7 มีนาคม 2556

วิกฤตไฟฟ้า หรือที่แท้คอร์รัปชันเชิงนโยบาย

-->
            ข่าววิกฤตไฟฟ้าที่ประเทศไทยกำลังจะเผชิญในวันที่ 5 เมษายนนี้สร้างความแตกตื่นตกใจแก่สังคมเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ออกจากปาก “รัฐมนตรี” ว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ผู้ว่าการ” การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่ทว่าขณะนี้กลับมีข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่กำลังเปิดเผยออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่า วิกฤตพลังงานครั้งนี้ แท้ที่จริงแล้วไม่ใช่วิกฤต แต่เป็น “ดราม่า” หรือการแสดงละครตบตาประชาชนให้ตื่นตกใจ เพื่อที่จะนำเสนอวาระซ่อนเร้นบางอย่าง
หากทบทวนดูลำดับของข่าวที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้น เราจะพบว่ามีการให้ข้อมูลที่บิดเบือนความจริงต่อสาธารณะในหลายๆ เรื่อง ดังนี้


การสร้างข่าว
ข้อเท็จจริง
ท่อก๊าซไทย-มาเลเซียเสียหายจากการทิ้งสมอเรือ ต้องปิดซ่อมในเดือนเมษายน
ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 และซ่อมแซมจนใช้งานได้ปกตินานแล้ว
ต้องปิดซ่อมท่อก๊าซพม่า และ ท่อก๊าซไทย-มาเลเซียพร้อมกัน ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 6,000 เมกะวัตต์
1. ท่อก๊าซไทย-มาเลเซียไม่ได้ปิดซ่อม
2. กำลังผลิตไฟฟ้าที่หายไปจากก๊าซพม่ามีเพียง 1,380 เมกะวัตต์เท่านั้น
ไทยพยายามเจรจากับพม่าให้เลื่อนกำหนดการปิดซ่อม แต่พม่ายอมเลื่อนให้เพียง 1 วัน (จาก 4 เม.ย. เป็น 5 เม.ย.)
ปัญหาแท่นขุดเจาะก๊าซทรุดทราบมาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว และกำหนดหยุดซ่อมในเดือนกุมภาพันธ์ แต่ กฟผ. ขอเลื่อนกำหนดมาเป็นเดือนเมษายน (เจตนาให้ตรงกับช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด)
ก๊าซพม่าหยุดส่งทำให้กำลังผลิตหายไป 4,100 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซพม่ามีกำลังผลิตรวม 6,961 เมกะวัตต์ แต่ในจำนวนนี้ 5,581 เมกะวัตต์ สามารถใช้น้ำมันเตาหรือดีเซลได้ ดังนั้น จะมีกำลังผลิตที่หายไปเพียง 1,380 เมกะวัตต์ ไม่ใช่ 4,100 เมกะวัตต์
กำลังสำรองมีเหลือเพียง 768 เมกะวัตต์ในวันที่ 5 เมษายน
ไม่พูดถึงโรงไฟฟ้า 3 โรงที่ จ.ราชบุรี จำนวน 4,100 เมกะวัตต์ ที่พร้อมเดินเครื่องด้วยน้ำมันเตา/ดีเซล
(โรงไฟฟ้าราชบุรี, ราชบุรีพาวเวอร์ และไตรเอ็นเนอร์ยี)

            กล่าวโดยสรุปแล้ว ความเสี่ยงที่จะเกิดไฟดับ (Black Out) ในวันที่ 5 เมษายนนี้ ถือว่าไม่ต่างจากภาวะปกติ คือแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะถึงแม้จะไม่มีก๊าซพม่าป้อนให้ แต่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยก็ยังมีอยู่ในระดับมากกว่า 10% อยู่ดี ดังข้อเท็จจริงต่อไปนี้


เมกะวัตต์
หมายเหตุ
กำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
32,600

หายไปเพราะก๊าซพม่าหยุดส่ง
-1,380
ไม่ใช่ -4,100 เมกะวัตต์ดังที่เป็นข่าว
กำลังผลิตอื่นๆ ที่ไม่พร้อมใช้งาน
-1,900
กฟผ.อ้างว่า มีโรงไฟฟ้า SPP เขื่อน และอื่นๆ ที่ไม่พร้อมใช้งานในช่วงดังกล่าว
กำลังผลิตที่ยังคงอยู่
29,320
เป็นกำลังผลิตที่พร้อมใช้งาน
คาดการณ์ความต้องการไฟฟ้าวันที่ 5 เม.ย.
26,300
ข้อมูลจาก กฟผ.
กำลังผลิตสำรอง
3,020
กฟผ.ระบุว่า หากมีกำลังสำรอง 1,200 เมกะวัตต์ขึ้นไป ก็จะถือว่ามั่นคง

            ตัวเลขทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลของ กฟผ.เองทั้งสิ้น ดังนั้น จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่รัฐมนตรีพลังงานและ ผู้ว่าการ กฟผ.จะแสดงอาการเจ๊กตื่นไฟออกมาให้ข่าวจนสังคมเกิดความแตกตื่นตกใจจนเกินเหตุ เพราะจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจท่องเที่ยว และอื่นๆ ประเทศไทยเสียหายกับปัญหาน้ำท่วมใหญ่มาหมาดๆ จะมีไฟดับอีกแล้วหรือ ?
            ข้อมูลที่แสดงให้เห็นข้างต้น บ่งชี้ไปในเชิงน่าสงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุใดจึงต้องให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะเพื่อสร้างกระแสวิกฤตไฟฟ้า(เทียม) หลายคนคงเดาคำตอบได้ไม่ยากว่า วาระซ่อนเร้นที่อยู่เบื้องหลังก็คือ รัฐบาลต้องการผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน (และนิวเคลียร์) ซึ่งสังคมไทยไม่ยินดีต้อนรับนั่นเอง
            ในช่วงหลายปีมานี้ กระทรวงพลังงานกล่าวมาโดยตลอดว่า การที่ประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป ถือเป็นปัญหาต่อความมั่นคงไฟฟ้า จำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง โดยลดสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติและนำเอาพลังงานถ่านหินและนิวเคลียร์เข้ามาเสริมให้มากขึ้น แต่พลังงานทั้งสองประเภทนี้มักจะถูกต่อต้านจากประชาชน ดังนั้น วิกฤตไฟฟ้าครั้งนี้ย่อมทำให้กระแสคัดค้านพลังงานถ่านหินและนิวเคลียร์ขาดความชอบธรรมลงไปพอสมควร
            ท่ามกลางความแตกตื่นตกใจของสังคม รัฐบาลได้ประกาศแล้วว่าจะปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือแผนพีดีพี โดยเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาในแผนถึง 10,000 เมกะวัตต์ แต่ในขณะเดียวกัน ขณะนี้รัฐบาลกำลังเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (โรงไฟฟ้าไอพีพี) จำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้เป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทั้งหมด โดยกระบวนการประมูลจะเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายนนี้
            หากย้อนทบทวนแผนพีดีพีฉบับที่ผ่านๆ มา เราจะพบว่า เหตุผลที่ใช้ประกอบการจัดทำแผนฯ เป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลต้องการผลักดันเชื้อเพลิงประเภทใดเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้จากแผนพีดีพี 2 ฉบับที่ผ่านมาและฉบับที่กำลังจะปรับปรุงใหม่ ดังนี้

แผน
เหตุผลประกอบ
โครงการในแผน
PDP 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 2
-  สำรองก๊าซธรรมชาติเหลือน้อย
-  กระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง
-  เพิ่มถ่านหิน, นิวเคลียร์
ก๊าซธรรมชาติ 18,400 MW
ถ่านหิน           7,740 MW
นิวเคลียร์         4,000 MW
PDP 2010 ปรับปรุงครั้งที่ 3
(อนุมัติเมื่อ 8 มิถุนายน 2555)
เพิ่มก๊าซธรรมชาติ ลดถ่านหิน, นิวเคลียร์
(ไม่มีคำอธิบาย)
ก๊าซธรรมชาติ  25,451 MW
ถ่านหิน           4,400 MW
นิวเคลียร์         2,000 MW
PDP 2013
(กำลังจะปรับปรุง)
-  กระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง
-  เพิ่มถ่านหิน(เมื่อเปิดประมูลโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ไอพีพีเรียบร้อยแล้ว)
ก๊าซธรรมชาติ  ลดสัดส่วนให้เหลือ 45%
ถ่านหิน          10,000 MW
นิวเคลียร์         ยังไม่ระบุ

            สิ่งที่ผิดปกติมากก็คือ ในการอนุมัติแผนพีดีพี 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งมีการเพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โดยกำหนดให้เปิดประมูลรับซื้อจากเอกชน (โรงไฟฟ้าไอพีพี) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ยังสั่งการให้กระทรวงพลังงานไปจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่(PDP2012)ในทันทีอีกด้วย  นั่นหมายความว่า การปรับปรุงแผนพีดีพีฉบับที่ใช้อยู่ในขณะนี้ ก็เพื่อเปิดประตูให้มีการประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนเท่านั้นเอง
            วิกฤตไฟฟ้าที่ถูกโหมประโคมขึ้นครั้งนี้เป็นวิกฤตเทียม แต่สิ่งที่วิกฤตจริงๆ กลับเป็นวิกฤตของ “ความไม่โปร่งใส” ในการกำหนดนโยบายพลังงานต่างหาก ที่ถึงกับต้อง “ดราม่า” หลอกลวงประชาชนโดยไม่สนใจกับความเสียหายของประเทศชาติที่จะตามมาจากข่าวไฟดับ เพื่อแลกกับการได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หากสังคมไทยไม่ตรวจสอบแก้ไขระบบการบริหารพลังงานที่ฉ้อฉล วิกฤตพลังงานย่อมเกิดขึ้นได้อีกทุกเมื่อ ตราบใดที่ผู้มีอำนาจยังสามารถโกหกหลอกลวงประชาชนเพื่อผลักดันวาระซ่อนเร้น โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
            หากรัฐบาลจริงใจที่จะ “กระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง” สิ่งที่ควรทำในขณะนี้ก็คือการชะลอการประมูลโรงไฟฟ้าไอพีพี เพื่อจัดทำแผนพีดีพีฉบับใหม่ให้เสร็จเสียก่อน แต่คงไม่มีทางเป็นไปได้ เมื่อพิจารณาจากข่าวการประมูลไอพีพีที่เริ่มมีเสียงบ่นจากผู้เข้าประมูลบางรายว่า การประมูลครั้งนี้มีการล็อคสเป็กเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทรายหนึ่งเป็นการเฉพาะ นอกจากนี้จำนวนกำลังผลิตไฟฟ้าที่เปิดประมูลก็สอดรับกับแผนการนำเข้าก๊าซ LNG ระยะที่ 2  ของ ปตท.ที่จะเพิ่มขึ้นอีก 5 ล้านตันต่อปี
            หรือว่า วิกฤตไฟฟ้า(เทียม)ครั้งนี้ ที่แท้คือคอร์รัปชันเชิงนโยบาย ?    
           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น