15 กุมภาพันธ์ 2556

รื้อถอนเตาปฏิกรณ์ฟูกูชิมะ : ภารกิจที่ท้าทายกว่าเชอร์โนบิล

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 18, พ.ย.-ธ.ค. 2555)

ธันวาคม 2555, นายโตชิมิตสุ โมเตกิ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดสรรงบประมาณพิเศษหลายหมื่นล้านเยนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายใน การวิจัยและพัฒนาวิธีการรื้อถอนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ งบประมาณก้อนนี้เป็นเงินก้อนที่สอง หลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนได้อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านเยน (25 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อใช้ในการศึกษาวิธีการรื้อถอนเตาปฏิกรณ์อย่างปลอดภัย



นายโมเตกิกล่าวว่า “เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการรื้อถอนเตาปฏิกรณ์ฟูกูชิมะ โดยรัฐบาลจะแสดงบทบาทอย่างเต็มกำลัง รวมทั้งการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

ในการรื้อถอนเตาปฏิกรณ์ทั้ง 4 เครื่องที่ฟูกูชิมะ บริษัทเท็ปโกได้ตั้งงบประมาณไว้ 1 ล้านล้านเยน (12,500 ล้านเหรียญ) ตามแผนการรื้อถอนที่มีกำหนดระยะเวลา 40 ปี

การรื้อถอน หรือ “decommissioning” โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความหมายรวมตั้งแต่การปลดระวางโรงไฟฟ้า การรื้อถอนเตาปฏิกรณ์ บำบัดและจัดเก็บกากนิวเคลียร์ทั้งหลายเข้าสู่ภาชนะป้องกันที่มีความปลอดภัย ไปจนถึงการทำความสะอาดและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยจากการปนเปื้อนรังสี ซึ่งสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแล้ว ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก

ตามแผนการที่วางไว้ อันดับแรกคือการซ่อมแซมอาคารเครื่องปฏิกรณ์ที่ยังมีการรั่วไหลของรังสี ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 6 ปี จากนั้นจึงทำการระบายน้ำปนเปื้อนรังสีออกจากอาคารติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์และ อาคารเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งใช้เวลาอีก 2 ปี อย่างไรก็ตาม แผนการนี้กำหนดขึ้นด้วยข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจนนัก เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครทราบเลยว่าจุดรั่วไหลอยู่ตรงไหน

เมื่อดำเนินการขั้นแรกสำเร็จ สิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายออกจากเตา ปฏิกรณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด เพราะแท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายอยู่ในสภาพกระจัดกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้น น้อยอยู่ที่บริเวณฐานของเตาปฏิกรณ์ ขั้นตอนนี้คาดว่าจะเริ่มหลังจากปี 2565 ไปแล้ว ซึ่งในระหว่างนี้จะต้องมีการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานใน พื้นที่อันตรายแทนมนุษย์ให้สำเร็จ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีในการอุดรอยรั่วที่จมอยู่ใต้น้ำปนเปื้อนรังสีด้วย

การเคลื่อนย้ายแท่งเชื้อเพลิงที่หลอมละลายออกจากเตาปฏิกรณ์ทั้งสามต้องใช้ เวลาถึง 25 ปี (พ.ศ.2579) หลังจากนั้นจึงจะสามารถรื้อถอนอาคารเครื่องปฏิกรณ์และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมได้ โดยบริษัทเท็ปโกคาดว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจะตกประมาณ 1 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดว่าค่าใช้จ่ายน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอีกในอนาคต

แม้ว่าอุบัติเหตุฟูกูชิมะจะมีความร้ายแรงน้อยกว่ากรณีของเชอร์โนบิล แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การแก้ไขปัญหาที่เชอร์โนบิลกลับใช้วิธีการที่ง่ายกว่ามาก โดยการก่อสร้างเกราะคอนกรีตหนาครอบเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายและอพยพประชาชนออก จากพื้นที่อย่างเป็นการถาวร แต่สำหรับญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแคลนที่ดินและประชาชนมีความรู้สึก ผูกพันกับที่ดินอย่างลึกซึ้งแล้ว การกอบกู้ที่ดินเพื่อให้ประชาชนกลับเข้าไปอาศัยอยู่ได้อย่างปลอดภัยคือเป้า หมายของแผน

“เราจะต้องใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะกำจัดการปนเปื้อนของรังสี และฟื้นฟูสภาพของทุกสิ่งทุกอย่างที่สามารถจะฟื้นฟูได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับเข้าไปอาศัยอยู่ได้อีกครั้ง” นายโกชิ โฮโซโนะ รัฐมนตรีอุบัติเหตุนิวเคลียร์ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ “เพื่อที่จะฟื้นฟูสภาพสิ่งต่างๆ ให้กลับคืนมา เราต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี และจะสละงบประมาณจำนวนมากให้กับอะไรก็ตามที่จะทำให้มันสำเร็จ”

นอกจากแผนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าแล้ว รัฐบาลยังมีแผนที่จะกำจัดการปนเปื้อนรังสีในเมือง ถนน สวนสาธารณะ และอื่นๆ ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีก 1 ล้านล้านเยน

ไม่มีใครรู้ว่าต้นทุนที่แท้จริงในการจัดการปัญหาฟูกูชิมะจะมากเท่าไหร่ แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ ประชาชนผู้เสียภาษีจะต้องร่วมแบกรับภาระทางการเงินก้อนมหึมานี้ต่อไปจนชั่ว ลูกชั่วหลาน

ที่มา :
- Motegi: Budget earmarked to decommission Fukushima nuclear reactors, ajw.asahi.com, 29 Dec., 2012
- Japan Plots 40-Year Nuclear Cleanup, online.wsj.com, 22 Dec., 2011

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น