14 กุมภาพันธ์ 2556

ปลาทะเลฟูกูชิมะอาจไม่สามารถนำมาบริโภคได้ไปอีกนานนับสิบปี

การตรวจรังสปลาที่นำเข้าจากญี่ปุ่นที่ด่านศุลกกรลาดกระบัง
(ภาพโดย สุกรี สุกปลั่ง สำนักข่าวรอยเตอร์) 
(จดหมายข่าวจับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 17, กันยายน-ตุลาคม 2555)  

ตุลาคม 2555, เป็นเวลามากกว่า 18 เดือนหลังอุบัติเหตุฟูกูชิมะที่รัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งห้ามซื้อขายสัตว์น้ำ 36 ชนิดที่จับจากทะเลฟูกูชิมะ เรือประมงจำนวนมากต้องถูกจอดพักยาว ทั้งที่การประมงเป็นอุตสาหกรรมหลักของเขตนี้

ขณะนี้ระดับรังสีที่ตรวจวัดได้ในน้ำทะเลฟูกูชิมะและบริเวณโดยรอบใกล้จะกลับคืนสู่ระดับปกติแล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนที่พยายามกลับมาทำประมงใหม่อีกครั้ง พวกเขาซึ่งมีจำนวนไม่มากนักเริ่มกลับมาจับสัตว์น้ำ 2 ประเภทที่รัฐบาลอนุญาต คือ ปลาหมึกยักษ์และหอยชนิดหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลตรวจสอบแล้วว่าปลอดภัยจากรังสี 

แต่จากข้อมูลของรัฐบาล ปลาที่จับได้จากทะเลฟูกูชิมะประมาณ 40% ก็ยังคงมีสารรังสีซีเซียมสูงเกิดค่าที่กฎหมายอนุญาตให้บริโภคได้ 

คาดกันว่า สารรังสีประมาณ 4 ใน 5 ที่แพร่กระจายออกมาจากโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะได้แพร่ไปสู่ทะเล ซึ่งกระแสน้ำทะเลสามารถกระจายกัมมันตภาพรังสีได้เร็ว และระดับรังสีในน้ำทะเลก็ลดลงจนใกล้สภาพปกติแล้ว แต่ปลาที่จับได้ในขณะนี้กลับมีระดับรังสีเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจ

เคน บัสเซเลอร์ นักวิทยาศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวู๊ดส์โฮล โอเชี่ยนกราฟิค ในสหรัฐซึ่งร่วมกับสำนักงานประมงแห่งญี่ปุ่นทำการติดตามสถานการณ์รังสีในทะเลฟูกูชิมะมา 12 เดือน กล่าวว่า กัมมันตภาพรังสีในปลาที่จับได้จากทะเลใกล้กับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะมีระดับสูงกว่าที่เคยตรวจวัดก่อนหน้านี้

เนื่องจากซีเซียมมักจะไม่ตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อของปลาทะเลเป็นเวลานาน ประกอบกับการตรวจพบรังสีระดับสูงก็มักจะพบในปลาที่อาศัยอยู่ผิวดิน นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าปลาเหล่านี้ปนเปื้อนรังสีเข้าไปใหม่จากสารซีเซียมที่อยู่ก้นทะเล ซึ่งมันบ่งชี้เป็นนัยว่า ยังคงมีสารซีเซียมที่รั่วไหลออกมาจากโรงไฟฟ้าเรื่อยๆ สารซีเซียมมีครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้น โคลนตะกอนใต้ท้องทะเลฟูกูชิมะจะยังคงปนเปื้อนรังสีต่อไปอีกหลายสิบปี

โฆษก บริษัทเท็ปโก้กล่าวว่า โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไม่ได้ปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีลงสู่ทะเลอีกแล้ว และระดับรังสีในน้ำทะเลรอบๆ โรงไฟฟ้าก็อยู่ในระดับคงที่ แต่เท็ปโก้ก็ออกตัวว่า การรั่วไหลจากเตาปฏิกรณ์ที่บริษัทอาจตรวจไม่พบนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะที่ฐานของเตาปฏิกรณ์มีน้ำหล่อเย็นท่วมขังอยู่

ในการลดโอกาสที่น้ำเหล่านี้จะซึมออกมาจากโรงไฟฟ้า เท็ปโก้กำลังก่อสร้างกำแพงยาว 2,400 ฟุตกั้นระหว่างเตาปฏิกรณ์และทะเล

เมื่อ 2 เดือนก่อน (สิงหาคม) ปลา greenling 2 ตัวที่จับได้ใกล้กับชายฝั่งฟูกูชิมะตรวจพบรังสีถึง 25,800 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม หรือ 258 เท่าของเกณฑ์ปลอดภัยที่รัฐบาลกำหนด

บัสเซเลอร์แนะนำว่า “ปลาเหล่านี้ควรจะถูกห้ามบริโภคต่อไปอีกนาน” อนาคตของการประมงในบริเวณนี้ดูเหมือนจะมืดมนต่อไปอีกนับสิบปี

รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามที่จะลดความตื่นกลัวของประชาชนต่อการบริโภคปลา จึงได้ลดเกณฑ์กำหนดของระดับรังสีในสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ซื้อขายในตลาด โดยตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 ปลาทะเลที่ซื้อขายในตลาดจะต้องมีซีเซียม 134 และ ซีเซียม 137 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ต่ำกว่าเกณฑ์ก่อนหน้านี้ที่อยู่ในระดับ 500  เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

บัสเซเลอร์กล่าวว่า นี่ไม่ใช่เพราะคำแนะนำของนักวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเพราะว่ารัฐบาลต้องการเรียกความมั่นใจของประชาชนในการกินปลาให้กลับคืนมา

“มันไม่ใช่เรื่องที่ถึงตาย ผมไม่อยากให้ตื่นตูม แต่มันจะทำให้ความเสี่ยง (ต่อสุขภาพ) เพิ่มขึ้น” เขาเตือนว่า การกินปลาเหล่านี้ในปริมาณมากในระยะยาวแล้วสามารถเกิดอันตรายได้

โนริอากิ ฮากา เจ้าหน้าที่สำนักงานประมงที่คอยตรวจเช็ครังสีในสัตว์น้ำที่ชาวประมงจับได้กล่าวอย่างน่าเห็นใจว่า 

“ถ้าเราโดนคลื่นยักษ์สึนามิอย่างเดียวโดยไม่มีอุบัติเหตุนิวเคลียร์ ตอนนี้เราคงฟื้นฟูตัวเองไปได้มากแล้ว รังสีคือศัตรูที่เรามองไม่เห็น สิ่งเดียวที่เราทำได้คือตรวจ ตรวจแล้วตรวจอีก และพยายามเรียกคืนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาได้ยินคำว่า ฟูกูชิมะ….” พูดมาถึงตอนนี้ ฮากาก็พูดต่อไม่ออก


ที่มา
Fukushima fishermen battle to turn the tide on a crippled industry,
http://www.guardian.co.uk/environment/2012/aug/09/fukushima-fishermen-crippled-industry
Fukushima fish 'may be inedible for a decade'
http://www.guardian.co.uk/environment/2012/oct/25/fukushima-fish-inedible-decade-radioactivity
Fish Off Japan’s Coast Said to Contain Elevated Levels of Cesium
http://www.nytimes.com/2012/10/26/world/asia/fish-off-fukushima-japan-show-elevated-levels-of-cesium.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น