12 กุมภาพันธ์ 2556

ฉากหลังเชื้อเพลิงแสนสะอาด

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จัดเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนชนิดหนึ่ง มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกับโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมัน ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นสามารถแบ่งส่วนการทำงานได้ 2 ส่วน คือ เครื่องปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ และส่วนผลิตไฟฟ้าที่รับไอน้ำจากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้วส่งไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า

แหล่งพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้ในโรงไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากธาตุยูเรเนียม ซึ่งเป็นธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติ
เป็นธาตุหนัก มีน้ำหนักอะตอม 92 ทั้งนี้ธาตุยูเรเนียมประกอบไปด้วย 3 ไอโซโทป คือ ยูเรเนียม 234, ยูเรเนียม 235 และยูเรเนียม 238 ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 0.01, 0.71 และ 77.29 ตามลำดับ ยูเรเนียม 235 เป็นไอโซโทปที่แตกตัวได้ สามารถทำปฏิกิริยาฟิสชั่นได้ (1 กรัม ของ U235 ถูกชนด้วยนิวตรอน จะแตกตัวให้พลังงานคิดเป็นพลังงานความร้อน 3 ล้านเท่าของการเผาถ่านหินที่น้ำหนักเท่ากัน) นอกจากนี้ยังมีธาตุอื่น ๆ ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเช่น ธอเรียม 232 ยูเรเนียม 238 พลูโตเนียม 239 เป็นต้น

สายพานการผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ จะเริ่มตั้งแต่การเอาธาตุยูเรเนียมมาจากเหมืองผลิตในรูป yellow cake หรือ U3O8 (ในกระบวนการสกัดยูเรเนียมจากเหมืองนั้นกว่าจะได้ธาตุยูเรเนียมออกมาจะน้อยมาก เมื่อสกัดออกมาได้จะเรียกว่า yellow cake) ผ่านกระบวนการทางเคมีเป็น Uranium hexafluoride (UF6) และถูกทำให้เข้มข้น จากนั้นนำไปแปรสภาพเป็น Uranium dioxide และประกอบเป็นแท่งเชื้อเพลิง จึงนำไปใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อยูเรเนียม 235 ส่วนใหญ่หมดไป เชื้อเพลิงนั้นจะถูกเรียกว่า Spent Fuel (เชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว) และถูกนำไปเก็บในบ่อน้ำภายในโรงไฟฟ้า เพื่อรอให้ความร้อนและรังสีลดลง จากนั้นอาจนำไปทำการสกัดใหม่อีกรอบ (reprocessing) เพื่อแยกเอาสิ่งที่ยังเป็นประโยชน์มาใช้ เช่นพลูโตเนียม สารประกอบยูเรเนียม และไอโซโทปที่เป็นประโยชน์ ในขณะเดียวกันยังเป็นการลดขนาดและแยกชนิดของกากรังสีเพื่อความเหมาะสมในการกำจัด ถึงกระนั้นกากกัมมันตรังสีเหล่านี้ต้องใช้เวลาสลายตัวกลับไปสู่สภาพธรรมชาตินับหมื่นๆ ปี

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ anawa.org นำเสนอข้อมูลกระชากหน้ากากพลังงานสะอาด ผ่านอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ในออสเตรเลียตะวันตก โดยก่อนที่จะได้ Uranium dioxide ในการ ผลิตไฟฟ้า 1,000 เมกะวัตต์เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นเวลา 1 ปี จะต้องนำหินแร่จากเหมืองใต้ดินจำนวน 146,000 ตัน มาถลุงและบดเพื่อให้ได้ yellowcake 150 ตัน โดยหินแร่ยูเรเนียมที่ด้อย คุณภาพจำนวน 145,850 ตัน ซึ่งถือเป็นกากกัมมันตภาพรังสี กลับไม่มีการจัดการใดๆ ถูกปล่อยทิ้งร้างเอาไว้ให้เป็นปัญหา ของคนรุ่นหลัง

ต่อมาเมื่อ Yellowcake จำนวน 150 ตัน ผ่านกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพจนได้แท่งเชื้อเพลิง Uranium hexafluoride จำนวน 33 ตันไปผลิตไฟฟ้า ส่วนที่เหลือ 117 ตันซึ่งมีไอโซโทป 238 จะถูกกองทัพสหรัฐนำไปผลิตกระสุนปืนเจาะเกราะที่มีสารกัมมันตรังสี ที่รู้จักกันในชื่อ Depleted uranium และเมื่อแท่งเชื้อเพลิงถูกใช้จนหมด จะถูกพักไว้ระยะหนึ่ง โดยมีเพียง 1.2 ตันเท่านั้นที่สามารถจะนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนกากกัมมันตรังสีเหล่านี้กว่า 31.5 ตันจะถูกลำเลียงไปแปลงสภาพเป็นพลูโตเนียม 300 กิโลกรัม ซึ่งเพียงพอ ที่จะผลิตจรวดนิวเคลียร์ได้ถึง 60 ลูก และปัจจุบันทั่วโลกมีจรวดนิวเคลียร์ที่พร้อมยิงมากกว่า 36,000 ลูก

ด้วยเหตุนี้ มลพิษที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปล่อยมาจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าย่อมต่ำกว่าเชื้อเพลิงประเภทอื่น แต่หาก พิจารณาเส้นทางกระบวนการได้มาซึ่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เข้าไปด้วยจะพบว่า โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกแห่งทั่วโลกไม่ได้บริสุทธิ์ขาวสะอาด เป็นมิตรต่อมนุษยชาติ แต่เป็นกิจกรรมที่เปื้อนเลือดอยู่บน สายพานการผลิตอาวุธนิวเคลียร์และกระบวนการทางทหารแทบทั้งสิ้น !

และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้การประชุมเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในปี 2544 จึงไม่รับรองว่า นิวเคลียร์เป็นพลังงานทางเลือกที่ยั่งยืน


หมายเหตุ
ตัดทอนจาก “ทันทีที่มีการคิดจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นั่นก็คือการก่อสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมา”
โดย อ.ชัชวาล บุญปัน ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแพร่ใน prachatai.com




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น