หอหล่อเย็นโรงไฟฟ้าเวอร์มอนต์ แยงกี พังถล่ม เมื่อปี 2550 |
คณะกรรมการกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์สหรัฐฯ (US-NRC) ระบุว่า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อย 27 เครื่องจาก 104 เครื่องทั่วสหรัฐฯ ได้ถูกตรวจพบว่ามีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์สหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เวอร์มอนต์ แยงกี ในเมืองเวอร์นอน รัฐเวอร์มอนต์ ได้มีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีตริเตียมปนเปื้อนอยู่ในน้ำใต้ดินสูงกว่าเกณฑ์ระดับปลอดภัยมากกว่า 3 เท่าตัวคืออยู่ที่ระดับ 70,500 พิโคคูรีต่อลิตร จากมาตรฐานไม่เกิน 20,000 พิโคคูรีต่อลิตร
ตริเตียมเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของไฮโดรเจน มีครึ่งอายุ 12 ปี มันแทบไม่มีเหลืออยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาฟิชชันในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปรวมทั้งสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ เองว่า ตริเตียมเป็นสารไอโซโทปกัมมันตรังสีที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เมื่อตริเตียมเข้าสู่ร่างกายจะสามารถทำให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายโดยการสูดดมหรือการดูดกลืนทางผิวหนัง
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เวอร์มอนต์ แยงกี เป็นกรณีล่าสุดในบรรดาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากมายของสหรัฐฯ ที่มีการตรวจพบการรั่วไหลของสารตริเตียม นีล ชีแฮน โฆษกของ US-NRC ได้กล่าวยอมรับว่า จนถึงขณะนี้ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อย่างน้อย 27 เครื่องจากทั้งหมด 104 เครื่องทั่วสหรัฐฯ มีการตรวจพบการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี การรั่วไหลที่เกิดขึ้นมีสาเหตุหลายประการ แต่โดยส่วนใหญ่มาจาก 2 กรณีคือ การผุกร่อนของท่อใต้ดินและการรั่วไหลจากบ่อเก็บกากนิวเคลียร์ สำหรับที่เวอร์มอนต์ แยงกี หลังจากที่มีการตรวจพบการรั่วไหลของตริเตียมสู่น้ำใต้ดินเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในเดือนเมษายนยังได้ตรวจพบการปนเปื้อนของสตรอนเซียมในดินอีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันยังมีการตรวจพบอีกว่า ปลาที่จับได้จากแม่น้ำคอนเน็คติคัต ห่างจากที่ตั้งโรงไฟฟ้า 4 ไมล์ ตรวจพบสตรอนเซียมในกระดูก สตรอนเซียมเป็นสารรังสีที่อันตรายมากอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถทำให้ป่วยเป็นมะเร็งกระดูกและมะเร็งเม็ดเลือดขาว
การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐฯ ไม่ได้เกิดขึ้นเลยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา นั่นหมายความว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมด 104 โรงของสหรัฐฯ ล้วนมีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น และองค์ประกอบหลายๆ ส่วนของโรงไฟฟ้าก็กำลังเสื่อมสภาพอย่างน่าใจหาย ยกตัวอย่างเช่นโรงไฟฟ้าเวอร์มอนต์ แยงกี ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 38 ปีเข้าไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2550 หอหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ได้พังถล่มลงมา เนื่องจากน็อตเหล็กยึดโครงสร้างเกิดการผุกร่อน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (ที่ว่ากันว่ามีมาตรฐานสูงกว่าโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ) โชคดีที่อุบัติเหตุไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างของเตาปฏิกรณ์ อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นทำให้เตาปฏิกรณ์ต้องลดกำลังผลิตลง 50%
โรงไฟฟ้าเวอร์มอนต์ แยงกีกำลังจะหมดอายุในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ และขณะนี้บริษัทเอ็นเทอร์จีผู้เป็นเจ้าของก็กำลังเสนอขอต่อใบอนุญาตออกไปอีก 20 ปี
ประชาชนประท้วงไม่ให้มีการต่ออายุโรงไฟฟ้าเวอร์มอนต์ แยงกี |
สำหรับคณะกรรมการกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์สหรัฐฯ แล้ว การรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีตริเตียมไม่เป็นอุปสรรคต่อการต่อใบอนุญาตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้ได้มีการอนุมัติให้ต่ออายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วทั่วประเทศรวม 59 โรง และยังมีอีก 37 โรงที่จะมีการพิจารณาต่อใบอนุญาตภายในช่วงระยะ 7 ปีนับจากนี้
จากรายงาน “Leak First, Fix Later” เมื่อเดือนเมษายน 2553 ของกลุ่มรณรงค์ต่อต้านนิวเคลียร์ “Beyond Nuclear” ซึ่งรวบรวมจากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์สหรัฐฯ ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2552 จนถึงวันที่ 15 เมษายน 2553 มีการตรวจพบการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนในน้ำใต้ดินรวม 15 ครั้งในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วสหรัฐฯ 13 แห่ง สารกัมมันตรังสีที่ตรวจพบการรั่วไหล นอกจากสารตริเทียมแล้ว ยังมีสตรอนเซียม, ซีเซียม-137, โคบอลต์-60 และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งสิ้น
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ในการเดินเครื่องตามปกติของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แต่ละโรง จะมีการปลดปล่อยกัมมันตภาพรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำและอากาศอยู่แล้ว เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่จะลงทุนเพื่อดักจับสารกัมมันตรังสีทั้งหมดไม่ให้เล็ดรอดออกจากโรงไฟฟ้าไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือ การควบคุมปริมาณของสารกัมมันตรังสีที่ถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยโรงไฟฟ้าแต่ละโรงจะต้องมีการจัดทำบัญชีปริมาณการปล่อยกัมมันตภาพรังสีรายปีเสนอต่อคณะกรรมการกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์สหรัฐฯ เพื่อไม่ให้เกินเกณฑ์กำหนดสำหรับความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม หรือกล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ รังสีเหล่านี้ถูกปล่อยออกจากโรงไฟฟ้าภายใต้การควบคุมกำกับของหน่วยงานความปลอดภัย
แต่อย่างไรก็ตาม พอล กันเทอร์ จากกลุ่มรณรงค์ต่อต้านนิวเคลียร์ “Beyond Nuclear” ในรัฐแมรีแลนด์ ให้ความเห็นว่า “มันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุม หรือเฝ้าระวังการรั่วไหลของรังสีจากโรงงานนิวเคลียร์ได้เลย” และบัญชีการปล่อยรังสีที่ทางบริษัทรายงานต่อรัฐก็ไม่ใช่ปริมาณรังสีทั้งหมดที่โรงไฟฟ้าปล่อยออกมา ซึ่งกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เบลดวูดในรัฐอิลินอยส์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้
นับตั้งแต่ปี 2543 สารกัมมันตรังสีตริเตียม และโคบอลต์-60 ได้ถูกตรวจพบในทางน้ำที่กั้นกลางระหว่างที่ดินของบริษัทเอ็กเซลอน ผู้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เบลดวูด กับถนนของเมืองก๊อดเล่ย์ในรัฐอิลินอยส์ ทำให้ชาวเมืองเกิดความวิตกกังวลและนำไปสู่การกดดันให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับการรั่วไหลของรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เบรดวูด ปรากฏว่า นับตั้งแต่ปี 2539-2543 มีการรั่วไหลของรังสีรวม 22 ครั้ง จากท่อน้ำทิ้งของโรงไฟฟ้ายาว 4.5 ไมล์ที่ปล่อยน้ำ(ที่ผ่านการบำบัดแล้ว) ลงสู่แม่น้ำคานคากี การรั้วไหลทั้ง 22 ครั้งนี้ ทางเอ็กเซลอนไม่ได้รายงานต่อคณะกรรมการกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์สหรัฐเลย
เอ็กเซลอนเป็นบริษัทนิวเคลียร์ยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ เป็นเจ้าของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เดินเครื่องอยู่ใน สหรัฐ 17 เครื่อง ซึ่งนอกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เบลดวูดแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไบรอน และเดรสเดน ของบริษัทเอ็กเซลอน ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอิลินอยส์เช่นกัน ก็มีปัญหาการรั่วไหลของรังสีมาเป็นเวลานาน จนกระทั้งปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของประชาชน และนำไปสู่การฟ้องร้องบริษัทเอ็กเซลอน
กระทั่งเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา บริษัทเอ็กเซลอนจึงตกลงยินยอมที่จะจ่ายเงินมากกว่า 1 ล้านเหรียญ เพื่อแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เบลดวูด โรงไฟฟ้าไบรอน และโรงไฟฟ้าเดรสเดน โดยเงินจำนวน 628,000 เหรียญจ่ายเป็นค่าปรับ และอีก 538,000 เหรียญต้องจ่ายให้แก่โครงการรักษาสิ่งแวดล้อมในเมือง 3 แห่งซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งสาม
นั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา แต่ถ้าเป็นประเทศไทย คงเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญที่ประชาชนจะสามารถเรียกร้องให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชน.
ที่มา
- http://www.cbsnews.com/stories/2010/02/01/national/main6163433.shtml
- Leak First, Fix Later, Beyond Nuclear report, April 2010
- Exelon to pay $1 million to settle suits over leaks at power plants, Chicago Tribune, 2010-03-12
- http://www.boston.com/news/science/articles/2010/01/31/leaks_imperil_nuclear_industry/
- http://abcnews.go.com/Business/wireStory?id=10784286
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น