(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 2, พ.ค.-มิ.ย. 2551)
ที่มาอันน่าสะพรึงกลัวของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ที่กำลังถูกเร่ขายในนาม “เชื้อเพลิงสะอาด”
เหมืองยูเรเนียมจาดูโกดา ประเทศอินเดีย
23 มิถุนายน 2551 สำนักข่าวดีเอ็นเอ ประเทศอินเดีย รายงานว่า ได้เกิดเหตุขยะกัมมันตรังสี แพร่กระจายไปกับกระแสน้ำที่เอ่อท่วมเพราะฝนที่ตกหนักและไหลเข้าสู่ท้องทุ่งและแหล่งน้ำในหมู่บ้านทัลซา ในรัฐฌาร์ขัณฑ์ ซึ่งอุดมไปด้วยสินแร่เหล็กและเป็นที่ตั้งของ “ทาทานคร” เมืองอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจรของ “ทาทา สตีล” บริษัทอุตสาหกรรมเหล็กยักษ์ใหญ่อันดับ 4 ของโลกที่ส่งรถกระบะ “ทาทา” เข้ามาขายในประเทศไทยนั่นเอง
แต่นอกจากเหล็กแล้ว ที่รัฐฌาร์ขันฑ์นี้ยังมีสินแร่ “ยูเรเนียม” อีกด้วย
ห่างจาก”นครเหล็ก” ไปเพียง 10 กิโลเมตร ก็คือที่ตั้งของเหมืองแร่ยูเรเนียม 3 แห่งในจาดูโกดา คือ Narwapahar, Bhatin และ จาดูโกดา(Jadugoda)
ของเสียหรือขยะกัมมันตรังสีที่ไหลปนไปกับน้ำเหล่านี้มาจากบ่อทิ้งหางแร่ หรือบ่อพักตะกอนโคลนกัมมันตรังสีของเหมืองยูเรเนียม ซึ่งตั้งอยู่รอบนอกของ “นครเหล็ก” ชาวบ้านที่นั่นต่างหวาดกลัว ไม่กล้า ใช้น้ำตามบ่อน้ำหรือลำห้วย พวกเขาไม่เชื่อคำพูดของบริษัทเจ้าของเหมืองยูเรเนียมที่พยายามบอกว่า น้ำที่ไหลล้นออกมาจากบ่อหางแร่เหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
ย้อนหลังไปเมื่อเดือนธันวาคม 2549 ที่หมู่บ้านดุงคริดี ใกล้ๆ กับจาดูโกดา ของเสียจากกระบวนการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมที่ถูกส่งไปตามท่อเพื่อทิ้งลงสู่บ่อพักตะกอนกัมมันตรังสี ได้เกิดไหลทะลัก ออกมาเนื่องจากท่อแตก น้ำเสียที่เป็นพิษระดับสูงในท่อได้ไหลหลั่งลงสู่แหล่งน้ำลำห้วยในบริเวณที่มีประชาชนอาศัยอยู่ ชาวบ้านได้รีบแจ้งเหตุให้บริษัทเจ้าของเหมืองทราบทันทีที่เกิดเหตุ แต่ก็ต้องรอนานถึง 9 ชั่วโมง กว่าที่จะมีการปิดสวิตช์ท่อส่งน้ำเสีย
ผลก็คือ โคลนกัมมันตรังสีเหล่านี้จับตัวลอยเป็นฝ้าปกคลุมอยู่เหนือผิวน้ำในลำห้วย ทำให้ปลา กบ และสัตว์ริมน้ำอื่นๆ ตายเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ พิษภัยของสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลเหล่านี้แพร่กระจายไปทั่วตามแหล่งน้ำ และเป็นอันตรายต่อผู้คนอีกนับไม่ถ้วนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับสายน้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ซึ่งจะค่อยๆ ปรากฏผลออกมาในอนาคตอีกนานเท่านาน
หมู่บ้านแห่งนี้เป็นที่อาศัยของชาวพื้นเมืองอินเดียจำนวนมากที่ถูกอพยพจากถิ่นฐานเดิมที่ถูกใช้เป็นที่ก่อสร้างเขื่อน 2 ใน 3 เขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำและโคลนที่เป็นพิษจากเหมืองยูเรเนียม ที่เรียกกันว่า “บ่อหางแร่” ของเสียกัมมันตรังสีทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากเหมืองจะถูกสูบมาทิ้งไว้ในบ่อเหล่านี้
จากประสบการณ์ของอุบัติเหตุแบบเดียวกันที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา และแคนาดา ผลกระทบทางรังสีจะเกิดขึ้นกับชุมชนที่อาศัยอยู่ทางท้ายน้ำลงไป ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ผลกระทบจะแผ่ไปไกลถึง 100 กิโลเมตร
เหมืองแร่ยูเรเนียมทั้ง 3 แห่งในจาดูโกดา ดำเนินการโดยบริษัทยูเรเนียมแห่งอินเดีย หรือ ยูซีไอแอล (Uranium Company of India Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาลอินเดียที่อยู่ภายใต้การกำกับของกรมพลังงานปรมาณู (Department of Atomic Energy)
บริษัทยูซีไอแอลก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2510 และเริ่มขุดสินแร่ยูเรเนียมขึ้นมาถลุงในปี 2511 นั่นคือจุดเริ่มของโศกนาฏกรรมของชาวอินเดียพื้นเมืองแห่งจาดุโกดา กว่า 40 ปีของการทำเหมืองแห่งนี้ มีชาวบ้านจำนวนมากมายที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคผิวหนัง พิกลพิการทางร่างกาย ตาบอด ปัญญาอ่อน เป็นหมัน ฯลฯ
ใช่แต่ในอินเดียเท่านั้น ในปี 2549 ตัวแทนชาวบ้านจาดูโกดาที่ต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ยูเรเนียม 3 คนได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมของชนพื้นเมืองจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกที่สหรัฐอเมริกา พวกเขาได้ พูดคุยกับชาวอินเดียนแดงเผ่านาวาโฮในรัฐอริโซน่า ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเหมืองแร่ยูเรเนียมเช่นกัน สิ่งที่ชาวบ้านจาดูโกดาได้เรียนรู้ก็คือ
“สิ่งที่พวกเราและอินเดียนแดงเหล่านี้ได้เผชิญกันมา ช่างเหมือนกันอย่างน่าขนลุก”
ฟังดูเหมือนไม่น่าเชื่อ ที่เหตุการณ์แบบที่อินเดียจะเกิดขึ้นได้ในประเทศที่ถือว่าเจริญที่สุดในโลกอย่างอเมริกา แต่นี่คือความจริงที่อยู่เบื้องหลังอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ อุตสาหกรรมที่สร้างกำไรอยู่บนพิษภัยของกัมมันตรังสีที่จะคงอยู่ต่อไปนับหมื่นปี
ความจริงที่ถูกกลบเกลื่อนอยู่นี้ก็คือ การที่จะทำให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานที่ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันหมายถึงการลงทุนอีกมากมายมหาศาล เพื่อจัดการในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งนั่นหมายถึงต้นทุนของพลังงานนิวเคลียร์ที่จะแพงลิบลิ่วจนไม่มีใครกล้าลงทุน
นั่นคือเหตุผลที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดก็ตาม พลังงานนิวเคลียร์ยังคงเป็นพลังงานที่สกปรกและอันตราย ส่วนยูเรเนียมที่เป็น “เชื้อเพลิงสะอาด” นั้น มีอยู่แค่ในจินตนาการอันเพ้อเจ้อของคนที่ อยากสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้นเอง
พระพุทธเจ้าร่ำไห้ในจาดูโกดา
Buddha Weeps in Jadugoda หรือ พระพุทธเจ้าร่ำไห้ในจาดูโกดา คือชื่อสารคดีเกี่ยวกับ โศกนาฏกรรมและเรื่องราวการต่อสู้ของชาวบ้านในเมืองจาดุโกดา ประเทศอินเดีย ที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองแร่ยูเรเนียมในพื้นที่ชุมชนของตน (ชื่อของสารคดีนี้เป็นการล้อเลียนโครงการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ครั้งแรกของรัฐบาลอินเดียที่ตั้งชื่อว่า “Smiling Buddha” หรือพระพุทธเจ้ายิ้ม) สารคดีชิ้นนี้จัดทำขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แต่วันนี้ การต่อสู้ที่นั่นยังไม่จบ
การทำเหมืองแร่ยูเรเนียมแห่งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน จนกระทั่งปัจจุบัน รัฐบาลของอินเดียก็ยังคงขุดค้นเพื่อให้ได้มาซึ่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ชนิดนี้ต่อไป โดยแลกกับความวิปริตผิดธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านในจาดุโกดา ซึ่งเป็นผลจากกัมมันตภาพรังสีของ ยูเรเนียมที่ถูกขุดออกมาจากที่ที่มันควรอยู่
ดร.สังคมิตรา เดไซ บุตรสาวของ นารยัน ผู้ซึ่งอดีตในวัยหนุ่มเคยเป็นผู้ช่วยงานอย่างใกล้ชิดของคานธี ได้เข้าไปสำรวจผู้ได้รับผลกระทบจากรังสีในหมู่บ้าน 5-6 แห่งของเมืองจาดุโกดา เธอเล่าถึงสภาพในหมู่บ้านว่า นอกเหนือจากสัตว์เลี้ยงพิการที่เห็นได้ทั่วไปแล้ว ยังมี “เด็กๆ และวัยรุ่นที่กะโหลกศีรษะผิดรูป มีเด็กๆ ที่มีนิ้วมือนิ้วเท้า ขาดบ้าง เกินบ้าง มีอาการทางผิวหนังอย่างที่เรียกว่าหนังคางคก เนื้องอก เด็กๆ แขนขาลีบ ปัญญาอ่อน ป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรม อัตราการแท้งลูกสูงผิดปกติ และสถิติการป่วยเป็นมะเร็งที่สูงอย่างน่าตกใจ เป็นสภาพเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในฮิโรชิมาหลังการทิ้งระเบิดปรมาณู”
ผู้หญิงที่เป็นแม่ คือกลุ่มที่ต้องรับสภาพนี้อย่างโหดร้ายที่สุด ลักษมี ดาส หญิงสาวในหมู่บ้านเล่าเรื่องราวของตัวเองว่า
“ตั้งแต่แต่งงานมาได้ 5 ปี ลูกสองคนของฉันตายตั้งแต่อยู่ในท้อง อีกคนตายหลังจากคลอดได้แปดเดือน ตอนที่ตาย หน้าของแกยังเป็นหน้าที่พิการผิดรูป….” เธอเล่าได้แค่นั้นแล้วก็ร้องไห้
สุเมตรา โซเรน คืออีกคนหนึ่งที่พบชะตากรรมไม่ต่างจาก ลักษมี ดาส ผู้น่าเวทนา
“ลูกชายสองคนแรกของฉันตายหลังจากคลอดได้ไม่กี่ชั่วโมง ส่วนคนที่สามเป็นผู้หญิงก็ตายหลังจากคลอดไม่กี่วัน สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พวกผู้หญิงอย่างเราถูกทิ้ง”
หลายสิบปีก่อน เมื่อรัฐเข้ามาเวนคืนที่ดิน ชาวบ้านไม่ได้รู้เลยว่าพื้นที่แห่งนี้จะมีการขุดแร่ยูเรเนียม ชาวบ้านซึ่งเป็นชนพื้นเมือง ต้องอพยพโยกย้ายที่อยู่อาศัยถึง 2 ครั้ง เมื่อมีการสร้างเขื่อน 2 เขื่อน ซึ่งใช้เป็นที่พักตะกอนหรือดินโคลนที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากเหมือง
แต่ชาวบ้านเหล่านี้ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวอะไรเกี่ยวกับอันตรายของกัมมันตภาพรังสีเลย พวกเขาเดินเท้าเปล่าเข้าไปในพื้นที่อันตรายแถบนั้น บางครอบครัวซึ่งเสียที่นาให้กับเขื่อน ก็ไปเก็บเศษหินจากเขื่อนมาขายเลี้ยงชีพ ส่วนเด็กๆ ก็เข้าไปเก็บเศษเชือกจากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกัมมันตภาพรังสีนั้นมาเล่นกันอย่างสนุนสนาน
“คนที่นี่ไม่ว่าผู้ชายหรือผู้หญิงล้วนอายุสั้น ลูกชายของฉันต้องไปถ่ายเลือดทุกเดือนเพราะเป็นธาลัสซีเมีย ไม่รู้จะต้องเป็นอย่างนี้อีกนานไหม ฉันจะพูดอะไรได้ เราจะทำยังไงได้ ลูกอีกสองคนของฉันก็ตายไปแล้วก่อนหน้านี้… อยากจะหนีไปซะให้พ้น แต่ไม่รู้จะไปไหนได้”
หญิงวัยกลางคนชื่อ มานจู ดาส กล่าวในสารคดีเรื่องนี้
“ข้อเรียกร้องของเราคือ จงปล่อยยูเรเนียมไว้ในที่อยู่ของมัน นั่นคือใต้พื้นดิน อย่าไปยุ่งกับมัน ถ้าคุณไม่ไปยุ่งกับงู ปล่อยให้มันอยู่ของมัน มันก็จะไม่มาทำอันตรายคุณ” กันชัม บีรูลี ผู้นำชาวบ้านจากจาดุโกดากล่าว
“การครอบครองยูเรเนียมกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ผมลงไปอยู่กับชาวบ้านที่นี่ 2 ปีเพื่อทำสารคดีเรื่องนี้โดยตรง ผมหวังจะให้มันมีพลังพอที่จะบอกทุกคนว่า คุณต้องหยุดวงจรอุบาทว์นี้ซึ่งเริ่มต้นที่เหมืองแร่ยูเรเนียม” ศรีปรากาช ศิลปินนักเคลื่อนไหว ผู้เป็นเจ้าของผลงานสารคดีที่ได้รางวัลระดับโลกชิ้นนี้ กล่าวถึงเจตนารมณ์ของเขา
“แต่ผมไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองทำงานสำเร็จเลย ผมจะรอดูอีกซักพัก ถ้าพิสูจน์แล้วว่าสารคดีของผมเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้จริงๆ ผมจะเลิกทำ แล้วไปร่วมในขบวนการต่อสู้อย่างชาวบ้านคนหนึ่ง”
ศรีปรากาชพูดไว้เมื่อปลายปี 2542 แต่สิบปีผ่านไป วันนี้ เรื่องราวอันน่ารันทดนี้ยังไม่จบ เช่นเดียวกับงานสารคดีของเขา
10 ปีผ่านไป ศรีปรากาชเพิ่งทำสารคดีชิ้นใหม่เสร็จอีกชิ้นหนึ่ง… มันยังคงเป็นเรื่องราวของพิบัติภัยกัมมันตภาพรังสีที่จาดูโกดา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น