14 กุมภาพันธ์ 2556

กระทรวงวิทย์ฯ ปลุกผีโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์

2 พฤศจิกายน 2555, นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จะมีการเดินหน้าสานต่อโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก และจะเร่งดำเนินการเพื่อไม่ให้ประเทศชาติเสียประโยชน์

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีนิวเคลียร์ (สทน.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แยกตัวออกมาจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เมื่อปี 2549 คือหน่วยงานที่จะเป็นผู้ดำเนินโครงการนี้ โดย สทน.ได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ สรุปว่า ประเทศไทยควรมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์เดิมใช้ประโยชน์ได้ไม่เพียงพอ


รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยังกล่าวด้วยว่า ภายใต้โครงการใหม่นี้ เตาปฏิกรณ์จะต้องมีขนาดระหว่าง 10-30 เมกะวัตต์

ย้อนรอยความเป็นมาของโครงการ

โครงการดังกล่าวนี้เคยดำเนินการโดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว แต่การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยต้องยกเลิกไป แม้ว่าจะมีการทำสัญญาจัดซื้อและก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ขนาด 10 เมกะวัตต์กับบริษัทเจเนอรัล อตอมมิค (จีเอ) จากสหรัฐอเมริกาแล้วก็ตาม เนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์ของบริษัทจีเอ ไม่เคยผ่านการตรวจประเมินความปลอดภัยจากประเทศผู้ผลิต

สัญญาว่าจ้างก่อสร้างในโครงการนี้เป็นสัญญาแบบ Turn Key (จ้างเหมาทั้งออกแบบและก่อสร้าง) ระยะเวลาดำเนินการ มิ.ย. 2540 - มิ.ย. 2544 แต่จนกระทั่งปัจจุบันการก่อสร้างก็ยังไม่ได้เริ่มต้น โดยที่สำนักงานปรมาณูฯ ได้จ่ายเงินไปแล้ว 1,800 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการให้แก่ บ.อิเลคโทรวัตต์ อีก 247 ล้านบาท ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้าน อ.องครักษ์ได้ยืนเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สตง. สรุปผลการสอบสวนในปี 2549 ว่า มีการประพฤติมิชอบของข้าราชการที่เกี่ยวข้องในโครงการ ปัญหาทั้งหมดนี้ยังคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2532 ให้ “ดำเนินการย้ายเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติซึ่งตั้งอยู่ที่บางเขนไปจัดสร้าง ณ สถานที่แห่งใหม่ที่เหมาะสมและปลอดภัยโดยด่วน” เนื่องจากสถานที่ตั้งเดิมไม่ตรงตามหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การย้ายเตาปฏิกรณ์ไปก่อสร้างยังสถานที่แห่งใหม่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากจะเกิดอันตราย อย่างไรก็ตาม สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ใช้โอกาสที่ ครม.มีมติในเรื่องนี้ ทำการสำรวจสถานที่และจัดทำโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัยเครื่องใหม่ โดยให้เหตุผลว่าเตาปฏิกรณ์บางเขนเก่าและมีขนาดเล็กเกินไป ไม่เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ และได้รับการอนุมัติจาก ครม. ในปี 2536

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติอ้างว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากจากการที่ประเทศไทยจะมีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยที่ทันสมัยทัดเทียมนานาประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรม เช่นการฉายรังสีเพื่อถนอมอาหารหรือปรับปรุงพันธ์พืช การฉายรังสีเพื่อเพิ่มมูลค่าของอัญมณี และการนำรังสีไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนในทางการแพทย์ก็ได้แก่ การใช้รังสีในการวินิจฉัยและรักษาโรค โดยเฉพาะโรคมะเร็ง เป็นต้น

เตาปฏิกรณ์วิจัยเครื่องใหม่ จำเป็นจริงหรือ ?

อย่างไรก็ตาม “ประโยชน์ของกัมมันตภาพรังสี” ไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับ “ประโยชน์ของเครื่องปฏิกรณ์วิจัย” โดยเราจะเห็นได้ว่า สทน.มีศูนย์ฉายรังสีเพื่อให้บริการฉายรังสีผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่นๆ ตั้งอยู่ที่รังสิตคลอง 5 จ.ปทุมธานี และมีศูนย์ฉายรังสีอัญมณีที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา ตั้งอยู่ในสำนักงานที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก โดยใช้โคบอลต์-60 และเครื่องเร่งอนุภาคอิเลคตรอนเป็นต้นกำเนิดรังสี เป็นต้น

ดังนั้นจึงมีคำถามว่าการลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างเตาปฏิกรณ์วิจัย 1 เครื่องเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและคุ้มค่าหรือไม่

ย้อนกลับไปก่อนที่ ครม. จะมีมติอนุมัติโครงการเเมื่อปี 2536 ดร.สวัสดิ์ ศรีสุข อดีตเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 21 ตุลาคม 2535 โดยแสดงการคัดค้านโครงการอย่างแข็งขันว่า

“...อันตรายจากการแผ่รังสีที่บางเขนอยู่ที่มีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้ว และที่กำลังใช้อยู่ ในเมื่อเกรงจะมีอุบัติเหตุ ก็ด้วยเหตุใดจึงจะมีเครื่องปฏิกรณ์ที่ใหญ่กว่า 5-10 เท่า ใช้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ปรมาณูมากขึ้นไปอีกที่จังหวัดนครนายก ทำให้มีแหล่งที่อาจเกิดอันตรายขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งเป็นสองแห่ง

ข้าพเจ้าได้ชี้แจงในตอนแรกๆ แล้วว่า ไม่มีผู้มาใช้งานจากสถาบันอื่นๆ กันมากนักที่เครื่องปฏิกรณ์ ไม่ว่าด้านฟิสิกส์ หรือด้านเทคนิคการวิเคราะห์นิวเคลียร์เคมี ชนิดของไอโซโทปที่วงการแพทย์นิยมใช้ในปัจจุบันก็ไม่ต้องอาศัยเครื่องปฏิกรณ์ โครงการที่ขยายไปเป็นกึ่งอุตสาหกรรมได้ก็ไม่ได้อาศัยเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู

... ที่อ้างว่าเพื่อพัฒนานิวเคลียร์เทคโนโลยีนั้น เขาพัฒนากันมากแล้วที่อื่น เพียงแต่เราทำอะไรให้เกิดประโยชน์ในบ้านเราก็น่าจะดี...”

ประเด็นจาก ดร.สวัสดิ์ ศรีสุข ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะหนึ่งนั้น เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องใช้ยูเรเนียมเป็นเชื้อเพลิงและจะเกิดกากนิวเคลียร์ที่เป็นภาระในการดูแลต่อไปนับหมื่นปี สองคือ เตาปฏิกรณ์เครื่องใหม่อาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นก็ได้... โครงการนี้สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการตรวจสอบจากสาธารณะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น