14 กุมภาพันธ์ 2556

พลังงานหมุนเวียนทดแทนนิวเคลียร์ไม่ได้จริงหรือ ?

โรงไฟฟ้าพลังความร้อนแสงอาทิตย์ Gemasolar
(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 18, พ.ย.-ธ.ค. 2555)

ผู้สนับสนุนระบบพลังงานรวมศูนย์มักจะอ้างว่า พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่คำตอบที่จะสามารถทดแทนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้อย่างเป็นจริง เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนมีความไม่แน่นอน ไม่สามารถใช้เป็น Base Load หรือกำลังผลิตไฟฟ้าพื้นฐานที่ต้องเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงได้ ดังนั้น ถึงอย่างไรเราก็ยังต้องพึ่งพาพลังงานถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้ออ้างข้างต้นกำลังมีน้ำหนักน้อยลงเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างเช่นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแสงอาทิตย์ ที่ก่อสร้างขึ้นใช้งานในเชิงพานิชย์ที่ประเทศสเปนเมื่อปีที่แล้ว



โรงไฟฟ้า Gemasolar เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแสงอาทิตย์ (solar thermal power plant) ที่มีหลักการทำงานแตกต่างจากโซล่าร์เซลล์ที่เปลี่ยนแสงแดดให้เป็นพลังงานไฟฟ้า แต่จะใช้แผงกระจกจำนวนมากสะท้อนแสงอาทิตย์ไปต้มน้ำเกลือให้มีอุณหภูมิสูงถึง 500 องศาเซลเซียส และความร้อนนี้จะถูกนำไปผลิตไอน้ำเพื่อปั่นไฟฟ้า โดยสิ่งที่พิเศษก็คือระบบกักเก็บความร้อนที่สามารถเก็บความร้อนไว้ใช้ได้นานถึง 15 ชั่วโมงแม้ว่าพระอาทิตย์จะตกดินไปแล้วก็ตาม

โรงไฟฟ้า Gemasolar ประกอบด้วยแผ่นกระจกสะท้อนแสง 2,650 แผ่น หอรวมแสงอาทิตย์สูง 140 เมตร มีกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าป้อนครัวเรือนได้ถึง 25,000 หลัง

ผลจากการวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนที่จะมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนในยุโรปทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งบ่งบอกว่า พลังงานหมุนเวียนมีความหวังเสมอ จึงไม่น่าแปลกใจที่ยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศเยอรมัน กล้าที่จะตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2050 เยอรมันจะเลิกพึ่งพาพลังงานฟอสซิลทั้งหมด และทดแทนมันด้วยพลังงานหมุนเวียน

สำหรับพลังงานนิวเคลียร์ ดูเหมือนสิ่งใหม่ๆ ที่ค้นพบจะมีแต่ปัญหาที่ต้องแก้ไข เช่นภัยจากแผ่นดินไหว สึนามิ และการคุกคามของภาวะโลกร้อน ซึ่งการปรับปรุงเทคโนโลยีมีแต่จะทำให้พลังงานนิวเคลียร์มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น