Pages

13 กุมภาพันธ์ 2556

พลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้ปลอดก๊าซเรือนกระจก

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 8, ก.ค.-ก.ย. 2552)

เมื่อพิจารณาถึงกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานนิวเคลียร์ นับตั้งแต่การทำเหมืองแร่ยูเรเนียม การสกัดธาตุยูเรเนียม 235 ออกจากสินแร่, กระบวนการเสริมสมรรถนะ ไปจนถึงการผลิตเป็นแท่งเชื้อเพลิงที่ขนส่งสู่โรงไฟฟ้า ทั้งหมดนี้ต้องใช้พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนในระหว่างการก่อสร้างและเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ตลอดจนกระบวนการปิดและรื้อถอนเตาปฏิกรณ์ รวมทั้งการจัดเก็บกากนิวเคลียร์อีกด้วย



ข้อมูลจากองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Friends of the Earth ระบุว่า เหมืองแร่ยูเรเนียมที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย (Olympic Dam) เพียงแห่งเดียวปล่อยคาร์บอนถึง 8% ของรัฐเซาธ์ออสเตรเลีย ในขณะที่โรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่เมือง Paducah รัฐเคนทักกี สหรัฐอเมริกา จัดเป็นผู้ปล่อยสารซีเอฟซี (คลอโรฟลูออโรคาร์บอน, 1 ใน 6 ของก๊าซเรือนกระจก) รายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ (1)

เมื่อคำนวณทั้งวัฏจักรของอุตสาหกรรมพลังงานนิวเคลียร์ (ตั้งแต่การทำเหมืองแร่ยูเรเนียมไปจนถึงการรื้อ ถอนโรงไฟฟ้าเมื่อหมดอายุ) การผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จะปล่อยก๊าซคาร์บอน 90-140 กรัม/KWh หรือเท่ากับประมาณ 1 ใน 3 ของการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ (2)

ที่น่าสนใจก็คือ แหล่งสำรองแร่ยูเรเนียมเกรดดีในโลกมีเหลือเพียงพอสำหรับอัตราการใช้ในปัจจุบัน (คือเตาปฏิกรณ์ 439 เครื่องที่กำลังใช้อยู่ทั่วโลก) ได้อีกเพียง 40-60 ปี และในอนาคตหากมีการนำแร่ยูเรเนียมเกรดต่ำมาใช้ อัตราการปล่อยคาร์บอนของพลังงานนิวเคลียร์ก็จะสูงขึ้นในระดับใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทีเดียว


อ้างอิง
(1) Nuclear Power and Climate : Why Nukes Can’t Save The Planet, Nuclear Information and Resource Service, June 2006

(2) Nuclear Power and Global Warming , J.W. Storm van Leeuwen, Brussels, 19 October 2006


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น