Pages

12 กุมภาพันธ์ 2556

สารกัมมันตรังสีรีไซเคิล ภัยเงียบของกากนิวเคลียร์

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 6, ม.ค.-ก.พ. 2552)
 
คุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าอยู่ดีๆ วันหนึ่งคุณก็ได้พบว่า บ้านที่คุณอาศัยอยู่นั้นเป็นคอนกรีตเสริม “เหล็กกัมมันตรังสี” หรืออุปกรณ์ทำอาหารในห้องครัว เช่น ที่ขูดมะละกอที่คุณใช้อยู่บ่อยๆ นั้น เป็นสารกัมมันตรังสีที่แพร่กัมมันตภาพรังสีใส่ร่างกายคุณอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน !!

นี่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่มันเคยเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง และในหลายประเทศ



19 สิงหาคม 2551 ที่ท่าเรือฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน ขณะที่เจ้าหน้าที่ศุลกากรกำลังตรวจเช็คตู้คอนเทนเนอร์ที่ขนขึ้นจากเรือขนถ่ายสินค้าตามปกติ จู่ๆ เครื่องตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีก็ส่งสัญญาณเตือนถึงระดับกัมมันตภาพรังสีที่สูงผิดปกติในบริเวณนั้น มันมาจากตู้คอนเทนเนอร์ตู้หนึ่งที่บรรจุไว้ด้วยเหล็กบาร์สแตนเลส ซึ่งเดินทางมาจากประเทศอินเดียเพื่อส่งต่อไปยังประเทศรัสเซีย

จากการตรวจวัดระดับรังสีพบว่า วัดได้ 71 ไมโครซีเวิร์ตส์ นั่นหมายความว่า หากใครได้รับรังสีขนาดนี้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จะเท่ากับได้รับรังสีเกินมาตรฐานความปลอดภัยที่ยอมให้บุคคลหนึ่งๆ สามารถรับได้ในช่วงเวลา 1 ปี ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงรีบสั่งให้ขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวกลับลงเรือที่บรรทุกมาทันที เพื่อส่งกลับคืนไปยังประเทศอินเดีย


เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในเยอรมัน ซึ่งทั้งหมดเป็นโลหะที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีโคบอลต์-60 และส่วนใหญ่ถูกส่งมาจากโรงงานเหล็กในประเทศอินเดีย

นายซิกม่า การ์เบรียล รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมของเยอรมันกล่าวว่า เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาได้รับแจ้งเหตุกรณีตรวจพบโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหลายครั้งในเขตหลายๆ รัฐของเยอรมัน โดยโลหะที่พบนั้น มีทั้งที่เป็นเศษเหล็กขึ้นรูปที่ถูกทิ้งในกองขยะ และหัววาล์วก๊อกน้ำ เป็นต้น

ตามรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมซึ่งส่งถึงรัฐบาลเยอรมันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีการตรวจพบเหล็กปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 19 รายการใน 12 รัฐของเยอรมัน ซึ่งมีทั้งเหล็กบาร์ สายเคเบิล เศษโลหะและหัววาล์ว เป็นต้น นอกจากนี้ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ทางการได้ตรวจยึดโลหะปนเปื้อนรังสีไว้แล้วกว่า 150 ตัน โดยบางส่วนถูกส่งคืนไปยังประเทศอินเดีย ส่วนที่เหลือถูกเก็บไว้ที่บริษัทที่เป็นผู้นำเข้า เพื่อรอการตัดสินใจว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป

โลหะเหล่านี้ บางส่วนมีระดับรังสีเกินกว่า 10 เบคเคอเรลต่อกรัม ซึ่งจะต้องถูกริบโดยทันที และมีถึง 5 ตันที่มีระดับรังสีถึง 33 เบคเคอเรลต่อกรัม ซึ่งต้องติดต่อกับบริษัทที่ทำงานด้านการจัดเก็บกากนิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เข้ามาช่วยจัดการในเรื่องการขนส่งและจัดเก็บ

จากการตรวจสอบร่วมของทางการอินเดียและเยอรมัน ปรากฏว่า เหล็กกัมมันตรังสีเหล่านี้มาจากโรงงานหลอมเศษเหล็กแห่งหนึ่งของบริษัทไวปราสในประเทศอินเดีย ซึ่ง “น่าจะ” หลอมเอาแท่งโคบอลต์-60 ที่ปะปนมากับกองเศษโลหะที่ส่งเข้ามายังโรงงานเข้าไปด้วย ซึ่งนายปรานัย กอร์เดีย ผู้จัดการบริษัทไวปราส กล่าวว่า

“เราเพียงแต่รีไซเคิลขยะ(เศษเหล็ก) เราไม่ได้เป็นผู้สร้างขยะ เรากำลังตรวจสอบว่าชิ้นส่วนพิเศษนี้มาจากไหน มันอาจจะเป็นประเทศใดประเทศหนึ่งที่เราได้สั่งนำเข้าเศษเหล็กเข้ามา แต่คงไม่เหมาะที่จะให้เราระบุชื่อออกมาในตอนนี้”

การสอบสวนหาข้อเท็จจริงทำได้มากที่สุดเพียงเท่านี้ แต่นั่นก็ทำให้เราได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ทุกวันนี้ มีขยะกัมมันตรังสีหรือกากนิวเคลียร์ที่เดินทางข้ามพรมแดนประเทศต่างๆ โดยไม่มีใครรู้ตัวเลย

ภัยเงียบที่ยากจะระวัง

โคบอลต์-60 เป็นสารไอโซโทปรังสีของธาตุโคบอลต์ที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน สามารถพบได้ในเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และมีการใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีในอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์บางอย่างในภาคอุตสาหกรรม สำหรับคนไทยเราคงพอที่จะรู้ซึ้งถึงภัยอันตรายของโคบอลต์-60 กันพอสมควรจากเหตุการณ์กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลที่จ.สมุทรปราการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น ถือว่าเราโชคดีมากที่สามารถเก็บกู้โคบอลต์-60 เอาไว้ได้จากร้านรับซื้อของเก่า ก่อนที่มันจะถูกส่งไปเข้าเตาหลอมที่ไหนสักแห่ง และกลายเป็นเหล็กรูปพรรณต่างๆ ที่จะถูกนำไปผลิตเป็นสินค้านานาชนิดกลับคืนสู่ท้องตลาด ซึ่งในกรณีเช่นนี้ สำหรับประเทศไทยแล้ว คงไม่มีความสามารถพอที่จะรับมือได้เพียงลำพัง

ในกรณีของอินเดีย เหล็กกัมมันตรังสีเหล่านี้ได้ถูกส่งไปขายในยุโรปหลายประเทศ เช่นฝรั่งเศส เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ และ สวีเดน เป็นต้น ที่แย่กว่านั้นคือ มันยังถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ เท่าที่สามารถระบุได้ในขณะนี้ก็คือ “ปุ่มลิฟท์” ที่ผลิตโดยบริษัทมาฟีเลคในฝรั่งเศส ซึ่งส่งปุ่มลิฟท์ให้แก่บริษัทติดตั้งลิฟท์ชื่อว่า บริษัทโอติส

เดือนตุลาคม 2551 หน่วยงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส หรือ AFN (France's nuclear safety authority) ได้แจ้งแก่บริษัทโอติสว่า คนงานของบริษัทจำนวน 20 คนที่จับต้องปุ่มลิฟท์เหล่านี้ ได้รับรังสีเกินมาตรฐาน คือราวๆ 1-3 มิลลิซีเวิร์ต ทั้งนี้ ตามกฎหมายฝรั่งเศสได้กำหนดปริมาณรังสีสำหรับบุคคลที่ไม่ได้ทำงานในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไว้เพียง 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี

AFN ได้จัดระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า อยู่ใน “ระดับ 2” ตามสเกลสากลของเหตุการณ์(อุบัติเหตุ)ทางนิวเคลียร์ซึ่ง มีทั้งสิ้น 7 ระดับ

ส่วนในประเทศเยอรมัน บริษัทติดตั้งลิฟท์แห่งหนึ่งต้องทำการเปลี่ยนปุ่มลิฟท์ที่เพิ่งมีการติดตั้งในกรุงเบอร์ลินกว่า 500 ชิ้น เพราะของเดิมที่ติดตั้งอยู่นั้นนำเข้ามาจากบริษัทมาเฟลิค

ปุ่มลิฟท์เหล่านี้ จากการตรวจวัดระดับรังสี พบว่าอยู่ใน ระดับ 270-600 เบคเคอเรลต่อกรัม ถึงแม้ว่าทางการเยอรมันโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมจะออกมาระบุว่า ปริมาณรังสีที่แพร่ออกมาจากปุ่มลิฟท์เหล่านี้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่นักวิชาการส่วนหนึ่งไม่ยอมรับ และพยายามบอกเตือนถึงอันตราย

แมทธิส สเตนฮอฟฟ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์จากสถาบันนิเวศน์วิทยาประยุกต์ในเมืองดาร์มแสต็ดท์ ประเทศเยอรมัน กล่าวว่า

“หากมีใครบางคนใช้เวลาอยู่ใกล้กับวัสดุเหล่านี้เป็นเวลานานๆ กรณีเช่นนี้ย่อมมีอันตราย”

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของสำนักงานป้องกันภัยทางรังสีแห่งเยอรมัน (Federal Office for Radiation Protection) ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ได้ให้ความเห็นว่า

“ชิ้นส่วนเหล่านี้ บางส่วนมีระดับรังสีค่อนข้างสูงทีเดียว ใครก็ตามไม่ควรที่จะเข้าไปใกล้วัสดุเหล่านี้เป็นเวลานานๆ“

ข้อถกเถียงนี้ถือเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันทั่วโลกมาหลายสิบปีแล้วก็ยังไม่ยุติ โดยนักวิชาการบางส่วนระบุว่า ที่จริงแล้ว ไม่มีระดับรังสีใดๆ ที่จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่ปฏิเสธได้ยากก็คือ มีการค้นพบใหม่ๆ ออกมาเสมอ เกี่ยวกับผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีต่อสิ่งมีชีวิต โดยเฉพาะในกรณีผลพวงจากเหตุการณ์เชอร์โนบิล นั่นย่อมสะท้อนว่า ความรู้ของมนุษย์เรายังมีน้อยมากเกี่ยวกับอันตรายของกัมมันตภาพรังสี

กว่าจะรู้ว่า มันอยู่ในครัว

สิงหาคม 2551 สื่อท้องถิ่นในรัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ได้รายงานข่าวการตรวจพบเศษโลหะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในโรงงานโลหะรีไซเคิลแห่งหนึ่งในเมืองฟลินต์ ใกล้กับเมืองดีทรอยต์ในรัฐมิชิแกน โลหะดังกล่าวเป็น “ที่ขูดเนยแข็ง” ราคาถูกซึ่งเป็นอุปกรณ์ทำครัวที่ใช้ตามครัวเรือนทั่วไป มันถูกตรวจพบโดยเครื่องวัดรังสีที่ติดตั้งอยู่ในโรงงานเศษเหล็กดังกล่าว และทางเจ้าของโรงงานได้แจ้งต่อหน่วยงานกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์ของสหรัฐ หรือ US-NRC (U.S. Nuclear Regulatory Commission) ให้นำไปตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่ US-NRC ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนว่า ที่ขูดเนยแข็งชิ้นนี้ผลิตขึ้นในประเทศจีน และคาดว่ามันคงไม่ใช่ชิ้นเดียวที่มีอยู่ในสหรัฐ อย่างไรก็ตาม มันจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เพราะมีระดับรังสีต่ำ

และก็อีกเช่นเคยที่คำชี้แจงเช่นนี้ถูกโต้แย้งจากผู้เชี่ยวชาญด้านรังสี ข้อโต้แย้งคือ จากการตรวจสอบของ US-NRC เองที่ระบุว่า ที่ขูดเนยแข็งชิ้นนี้ถูกส่งเข้ามาขายในสหรัฐก่อน 6 ปีที่แล้วเป็นอย่างน้อย คือก่อนที่รัฐมิชิแกนจะติดตั้งเครื่องตรวจวัดรังสีที่ด่านเข้าเมือง โดยคาดการณ์ว่า มันน่าจะมีอายุ 8 ปีหรือมากกว่านั้น นั่นหมายความว่าขณะที่มันยังใหม่อยู่ ระดับรังสีของมันจะสูงกว่าในขณะนี้ประมาณ 3 เท่า

“ไม่มีอะไรกำหนดแน่นอนได้ว่า ระดับรังสีต่ำสุดขนาดไหนที่ร่างกายเราได้รับแล้วจะไม่เกิดอันตราย”

ดร.ไมเคิล ฮาร์บัต นักวิชาการด้านพิษวิทยาในท้องถิ่น โต้แย้งข้อสรุปของ US-NRC เขายังกล่าวอีกว่า ถึงแม้รัฐบาลกำลังบอกว่าระดับรังสีต่ำ แต่เขาคิดว่าถึงอย่างไร ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และเด็กเล็กก็ไม่ควรเข้าใกล้วัตถุเหล่านี้

”สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรคิดก็คือ คุณต้องการที่จะเพิ่มปัจจัยความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งหรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรให้แก่เด็กๆ ของคุณหรือ ผมคิดว่าคำตอบคือ ไม่ใช่แน่ๆ”

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า การที่มนุษย์ได้รับกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำ แต่ได้รับสะสมเป็นเวลายาวนาน จะสามารถทำให้ป่วยเป็นโรคต้อกระจก มะเร็งชนิดต่างๆ รวมทั้งความผิดปกติของระบบพันธุกรรมซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดออกมาพิการได้ แต่ที่ยังถกเถียงกันอยู่ก็คือ รังสีระดับต่ำๆ นั้น ต่ำแค่ไหนที่จะอยู่ในระดับที่ไม่ก่อผลกระทบต่อสุขภาพ ?

มีตัวอย่างที่น่าสนใจกรณีหนึ่งเกี่ยวกับเหล็กกัมมันตรังสีคือ ที่ประเทศไต้หวัน มีการทำวิจัยครั้งหนึ่งโดยศูนย์การแพทย์แห่งชาติไต้หวัน (Taiwan's National Medical Center) เพื่อติดตามศึกษากลุ่มตัวอย่าง 6,252 ราย ที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเม้นต์ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริม “เหล็กเส้นที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี” ในช่วงระหว่าง ปี 1983-2005 พบว่า มีอยู่ 117 รายที่ป่วยเป็นมะเร็ง การวิจัยครั้งนี้ยังแสดงนัยสำคัญถึงสถิติของมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งเต้านมที่เพิ่มขึ้นด้วย

ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ

กรณีสารกัมมันตรังสีถูกส่งเข้าเตาหลอมรวมกับโลหะอื่นนั้น ในบางกรณีสามารถก่อให้เกิดอันตรายและผลกระทบที่กว้างขวางมาก ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงหลอมเหล็กรีไซเคิลของบริษัท Acerinox ในประเทศสเปนเมื่อปี 1998 สารกัมมันตรังสีซีเชียม-137 ที่แพร่กระจายออกมาในครั้งนั้น มีปริมาณระหว่าง 4,500-9000 ล้านคูรี ก่อให้เกิดการปนเปื้อนในประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย เยอรมัน บัลแกเรีย สาธารณรัฐเชค และกรีซ เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นเหตุการณ์ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรปนับจากหลังกรณีอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (ข้อมูลจาก www.earthislandprojects.org/ EIJOURNAL/winter99/wr_winter99cesium.html) และใช่ว่า เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะปัจจุบันยังมีสารกัมมันตรังสีที่อยู่ในสภาพ “ขยะกัมมันตรังสี” อีกเป็นล้านชิ้นที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในสาระบบของรัฐบาลทั่วโลก

จากรายงานของเว็บไซต์ www.bloomberg.com  ในปี 2550 ด่านศุลกากรสหรัฐได้ปฏิเสธการขนสินค้าเข้าที่เป็นสินค้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีรวม 64 รายการ สินค้าเหล่านี้มีทั้งกระเป๋าถือ ช้อนส้อม อ่างล้างชาม และเครื่องใช้อื่นๆ โดยแหล่งใหญ่ที่สุดของสิ้นค้าปนเปื้อนรังสีเหล่านี้ก็คือประเทศอินเดีย และรองลงมาคือจีน

“โลกตื่นตัวกับเรื่องนี้ช้ามาก”

พอล เดอ บรูน จากบริษัท Jewometaal Stainless Processing BV ผู้รับซื้อเศษเหล็กสแตนเลสที่ใหญ่ที่สุดในโลกในรอตเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ กล่าว

“มันจะมีสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นเพราะวัสดุเหล่านี้เข้ามาหาเราตั้งแต่ทศวรรษที่เจ็ดสิบและแปดสิบแล้ว จากการที่สมัยนั้นยังไม่มีการควบคุมสารรังสีที่นำเข้ามาใช้ในภาคอุตสาหกรรม”

นี่คืออีกแง่มุมของมหันภัยจากนิวเคลียร์


ที่มา : 

- CONTAMINATED IMPORTS, http://www.spiegel.de 
- Radioactive scrap from India used to make lift buttons in France, http://www.guardian.co.uk
- EXPOSED : to radiation in France, to controversy near Pune, http://www.expressindia.com
- A radioactive cheese grater at Genesee Township landfill points out toxic dangers from Chinese products, http://www.mlive.com (The Flint Journal, Dairy Newspaper for Flint, Michigan)
- Radioactive Beer Kegs Menace Public, Boost Costs for Recyclers, http://www.bloomberg.com
- The Mysterious Radioactive Cheese Grater, Action News Detroit, http://www.wxyz.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น