Pages

13 กุมภาพันธ์ 2556

พลังงานนิวเคลียร์ : พระเอกตัวปลอมของปัญหาโลกร้อน

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 8, ก.ค.-ก.ย. 2552)

ข้ออ้างที่สำคัญที่สุดขณะนี้ในการสร้างคะแนนนิยมให้แก่พลังงานนิวเคลียร์ก็คือ พลังงานนิวเคลียร์คือทางออกของปัญหาโลกร้อน เพราะพลังงานนิวเคลียร์ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน เหตุผลดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของการบิดเบือนข้อเท็จจริง และการไม่พิจารณาถึงข้อจำกัดในหลายๆ ด้านของการใช้พลังงานนิวเคลียร์

ข้อเท็จจริงที่มักจะถูกบิดเบือนเสมอก็คือ



1. พลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้ปลอดก๊าซเรือนกระจก

2. นิวเคลียร์ไม่ใช่พลังงานสะอาด ต่อให้เราถือว่ามันปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นจริง มันก็ยังมีมลพิษอันตรายที่พลังงานชนิดอื่นๆ ไม่มี นั่นก็คือกัมมันตภาพรังสี นอกจากนี้ การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นยังจะเพิ่มปัญหาในด้านความมั่นคง จากการแพร่กระจายของวัสดุนิวเคลียร์ รวมทั้งปัญหาการก่อการร้าย

3. นิวเคลียร์ไม่ใช่พลังงานหมุนเวียน เพราะแร่ยูเรเนียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นวัสดุที่ใช้แล้วหมดไปไม่ต่าง จากน้ำมันหรือถ่านหิน และแร่ยูเรเนียมเกรดดีที่มีอยู่ในโลก ก็สามารถใช้ไปได้อีกเพียง 40-60 ปีข้างหน้า

ไม่เป็นที่สงสัยกันอีกแล้วว่า โลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤตธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดจากภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งหนทางในการบรรเทาความหายนะไม่ให้เลวร้ายจนเกินไปนั้น รายงานทางวิทยาศาสตร์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในปี 2007 ระบุว่า โลกจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ในระยะเวลาอันสั้น และจะต้องลดลงอย่างมากภายในราวปี ค.ศ. 2050 โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วนั้น ภายในปี ค.ศ.2020 ควรจะต้องลดการปล่อยก๊าซฯลงให้ได้ 40% ของปริมาณการปล่อย ในปี 1990 (1) คำถามคือ...

“นิวเคลียร์จะมีส่วนช่วยได้มากน้อยเพียงใด ?”

เมื่อพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซฯ ของโลกในภาพรวม แม้ว่าส่วนใหญ่จะมาจากภาคพลังงานถึง 61.4 % แต่นับเฉพาะที่มาจากพลังงานไฟฟ้านั้น มีไม่ถึง 24.6%2 และเตาปฏิกรณ์ทั่วโลก (ขณะนี้มี 439 เครื่อง) ผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 15% ของไฟฟ้าทั้งหมด (2)

จากสภาพดังกล่าว มาดูกันว่า พลังงานนิวเคลียร์จะสามารถมีบทบาทอย่างไรได้บ้าง

1. เตาปฏิกรณ์มากไป แต่ลดคาร์บอนได้น้อยไป

จากรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA, Energy Technologies Perspective 2008) ที่จัดทำให้แก่กลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ G8 แสดงให้เห็นว่า หากโลกเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์(เพื่อแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล) ขึ้นเป็น 4 เท่าของปัจจุบันภายในปี 2050 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในภาคพลังงานได้เพียง 6% หรือเท่ากับลดลง 4% ของยอดรวมการปล่อยก๊าซทั้งหมด (จากเป้าหมายที่ควรจะต้องลดให้ได้ถึง 40%)

การเพิ่มสัดส่วนพลังงานนิวเคลียร์มากขนาดนั้น หมายถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ประมาณ 1,500 เครื่องที่จะถูกสร้างขึ้นทั่วโลก ด้วยเงินลงทุนขนาดเกือบ “สิบล้านล้าน” เหรียญที่จะต้องใช้ในช่วง 40 ปี (สำหรับการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียงอย่างเดียว) และจากสถิติที่ผ่านมา การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 10 ปี นั่นหมายความว่า หากเริ่มก่อสร้างตั้งแต่บัดนี้ เตาปฏิกรณ์เครื่องแรกจะเริ่มเดินเครื่องเพื่อ “ช่วยลดคาร์บอน” ได้ ก็ประมาณปี 2020 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น ตาม รายงานของ IPCC การลดก๊าซคาร์บอนของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วควรจะต้องลดให้ได้ถึง 40% แล้ว

2. แพงเกินไป และ ช้าเกินไป

อุตสาหกรรมนิวเคลียร์มีประวัติที่ไม่ดีเอามากๆ ในเรื่องต้นทุนบานปลาย จากรายงานของหน่วยงานด้านงบประมาณของสภาคองเกรสสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 75 เครื่องในสหรัฐฯ ก่อสร้างขึ้นด้วยงบประมาณ ที่บานปลายเป็น 3 เท่า(3) เช่นเดียวกับเตาปฏิกรณ์ 10 เครื่องสุดท้ายที่ก่อสร้างเสร็จของอินเดีย ก็ใช้งบประมาณที่บานปลายเฉลี่ยเป็น 3 เท่าเช่นกัน (4) และปัจจุบันประวัติศาสตร์ก็ยังซ้ำรอยเดิม เพราะการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุดของโลก 2 เครื่องที่ฟินแลนด์และฝรั่งเศส ก็กำลังเผชิญกับความล่าช้าและงบประมาณที่บานปลายอย่างมโหฬาร

เตาปฏิกรณ์เครื่องหนึ่งๆ ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 6-10 ปี (บางเครื่องในสหรัฐฯ ใช้เวลาก่อสร้างมากกว่า 20 ปี) การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1,500 โรงให้ทันปัญหาโลกร้อน หมายถึงจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่เกิดขึ้นเฉลี่ย 1 โรงในทุกๆ 2 สัปดาห์นับจากนี้ไปจนถึง 60 ปี ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว ดังนั้น พลังงานนิวเคลียร์จึงช้าเกินไป (อย่างมากๆ) สำหรับปัญหาโลกร้อน

หากตัวเลขข้างต้นดูออกจะ “เวอร์” เกินไป เราลอ หันไปดูรายงานฉบับอื่นดูบ้าง จากการศึกษาขององค์การพลังงานนิวเคลียร์ภายใต้องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า หากจะให้พลังงานนิวเคลียร์มีผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญจริงๆ สิ่งที่จะต้องทำก็คือ การสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โดยเฉลี่ยปีละ 12 เครื่อง (แทนการใช้พลังงานฟอสซิล) นับจากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2573

ตัวเลขนี้แม้จะไม่สุดโต่งจนเกินไป แต่ก็ยังห่างไกลจากความเป็นไปได้เอามากๆ เพราะความจริงขณะนี้ก็คือ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั่วโลกยังไม่มีแม้กระทั่งความสามารถที่จะก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เพื่อทดแทนเตาปฏิกรณ์เครื่องเก่าที่กำลังจะหมดอายุให้ครบเลย

ส่วนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างทั่วโลก 45 เครื่องขณะนี้นั้น ตามรายงานการศึกษาที่จัดทำให้แก่รัฐบาลเยอรมันเมื่อเร็วๆ นี้ (โดย ไมเคิล ชไนเดอร์ นักวิเคราะห์พลังงานระหว่างประเทศ) พบว่า เตาปฏิกรณ์ 45 เครื่องดังกล่าว มีจำนวน 22 เครื่องที่การก่อสร้างกำลังประสบปัญหาความล่าช้า นอกจากนั้น ยังมีอีก 9 เครื่องที่ไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาในการเริ่มต้นเดินเครื่องใช้งานได้เลย

3. กากนิวเคลียร์/พลูโตเนียมมากเกินไป และความปลอดภัยที่น้อยเกินไป (5)

สมมติว่า โลกมนุษย์เราสามารถก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นได้อีก 1,500 เครื่องจริง สิ่งที่จะต้องมีก็คือ การจัดเตรียมสถานที่ทิ้งกากนิวเคลียร์แห่งใหม่ที่มีขนาดเท่ากับที่ภูเขายัคคา (Yucca) เพิ่มขึ้นหนึ่งแห่งในทุกๆ 3-4 ปี สำหรับภูเขายัคคานั้น แม้จะใช้เวลาศึกษามาเกือบ 20 ปี แล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปถึงแผนการที่ชัดเจน

ประเด็นต่อมา การมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้นมากขนาดนั้น จะต้องมีโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมที่ มากขึ้น และผลพลอยได้อีกอย่างก็คือพลูโตเนียมนับพันๆ ตัน (เตาปฏิกรณ์ 1 เครื่องจะก่อให้เกิดพลูโตเนียมประมาณ 500 ปอนด์ต่อปี) ซึ่งจะทำให้ปัญหาการแพร่กระจายวัสดุนิวเคลียร์ขยายตัวมากขึ้น

สำหรับความเสี่ยงในด้านอุบัติเหตุนิวเคลียร์ จากสถิติที่ผ่านมา ความเป็นไปได้ของอุบัติเหตุนิวเคลียร์อยู่ในอัตรา 1 ต่อ 10,000 เครื่อง-ปี นั่นหมายความว่า เครื่องปฏิกรณ์ประมาณ 2,000 เครื่อง (1,500 เครื่องที่สร้างขึ้นใหม่ และ 440 เครื่องที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน) จะมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงในระดับเชอร์โนบิลได้ในทุกๆ 5 ปี !! นอกจากนี้ ยิ่งมีเตาปฏิกรณ์มากขึ้น ย่อมหมายถึงเป้าหมายของการก่อวินาศกรรมโดยกลุ่มก่อการร้ายที่มากขึ้นด้วย

สรุปแล้ว การหนีปัญหาโลกร้อนด้วยการมุ่งหน้าสู่พลังงานนิวเคลียร์ ก็คือการหนีเสือปะจระเข้ดีๆ นี่เอง

4. โลกร้อน นิวเคลียร์ยิ่งอันตราย

สุดท้าย ปัญหาสำคัญที่ฝ่ายอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไม่อยากจะพูดถึงเลยก็คือ ภาวะโลกร้อนกำลังคุกคามความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ !!

ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์ทำงานได้ดีขึ้นภายใต้อุณหภูมิของโลกที่กำลังเพิ่มขึ้น แต่พลังงานนิวเคลียร์กลับตรงกันข้าม ในฤดูร้อนปี 2003 เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 ใน 4 ของฝรั่งเศสต้องถูกสั่งหยุดเดินเครื่อง เนื่องจากการเกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนอย่างรุนแรงในทวีปยุโรป

ในสถานการณ์ภัยแล้งที่ยุโรป ปริมาณน้ำในแม่น้ำที่ลดลง หรืออุณหภูมิของน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เตาปฏิกรณ์หลายเครื่องต้องลดกำลังผลิต หรือกระทั่งต้องปิดการเดินเครื่องไปเลย (เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุนิวเคลียร์) เพราะเตาปฏิกรณ์ต้องการน้ำปริมาณมหาศาลสำหรับระบบหล่อเย็น การลดลงของระดับน้ำ หรือกระทั่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของแหล่งน้ำที่ใช้ในการหล่อเย็น สามารถก่อผลกระทบอย่างใหญ่หลวงได้ต่อการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์ ที่สหรัฐฯ ปัญหาดังกล่าวนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน

นั่นคือปัญหาของโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหรือทะเลสาบ แต่สำหรับโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ติดชายทะเล สิ่งที่จะ ต้องเผชิญในอนาคตจากภาวะโลกร้อนก็คือ ปัญหาน้ำท่วม

ในไม่กี่ปีมานี้ ภาวะโลกร้อนทำให้เราได้เห็นสภาพอากาศที่เลวร้ายหลายแบบที่มีความรุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น ทั้งคลื่นความร้อนที่รุนแรง ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุหิมะ พายุทอร์นาโด เฮอร์ริเคน และไซโคลน ภายใต้สภาพอากาศที่เลวร้ายเหล่านี้ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเกิดอุบัติเหตุ ตัวอย่างจากภัยธรรมชาติที่เคยเกิดขึ้น เช่น (6)

ในปี 1999 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของฝรั่งเศสที่ Blayais site เกือบจะต้องมีการอพยพผู้คนในเมือง เพราะ ได้เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจนเกือบนำไปสู่หายนะจากปัญหาน้ำท่วม หรือกรณีที่อินเดีย หลังจากเกิดน้ำท่วมจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2004 มีการปิดเตาปฏิกรณ์อย่างฉุกเฉินที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Kalpakkam มีรายงานระบุว่า ในวันต่อมาได้มีการอพยพประชาชน 15,000 ครอบครัว เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน ซึ่ง 2 เดือนต่อมา ยังมีการตรวจพบระดับกัมมันตภาพรังสีที่น่าวิตกในระยะห่างออกไปถึง 20 กิโลเมตร

ในสถานการณ์ภัยแล้งที่ประชาชนกำลังขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและการเกษตร เราอาจต้องเลือกระหว่างการให้มนุษย์ขาดน้ำ (เพื่อให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดินเครื่องได้อย่างปลอดภัย) กับการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งอาจหมายถึงความอลหม่านของระบบไฟฟ้า เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นระบบรวมศูนย์ขนาดใหญ่

ประเทศฝรั่งเศสที่ภูมิใจกันนักหนาว่าใช้พลังงานนิวเคลียร์ถึง 78% นั้น เอาเข้าจริง เมื่อถึงฤดูร้อนที่ต้อง เผชิญกับคลื่นความร้อนหรือภาวะภัยแล้ง ประเทศฝรั่งเศสต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านใช้ เพราะเตาปฏิกรณ์ที่มีอยู่ส่วนใหญ่ต้องลดกำลังผลิตหรือกระทั่งต้องหยุดเดินเครื่อง ผลก็คือชาวฝรั่งเศสต้องจ่ายค่าไฟแพงกว่าที่ควรจะเป็นหลายเท่าตัว

ระหว่าง “การลดปัญหาโลกร้อน” กับ “การเลือกใช้พลังงานนิวเคลียร์” ถึงที่สุดแล้ว อาจกล่าวได้ว่า เราสามารถเลือกได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่จะเอาทั้งสองอย่าง.


อ้างอิง


1 Fourth Assessment Report AR4, IPCC 2007
2 World GHG Emission Flow Chart, World Resource Institute, 2000
3 Nuclear Power’s Roles in Generating Electricsity, Congressional Budget Office, May 2008
4 The Economics of Nuclear Power, Greenpeace, 2007
5 Nuclear Power and Climate : Why Nukes Can’t Save the Planet, Nuclear Information and Resource Service, June 2006
6 Nuclear power and climate change : Forget about myths!, http://www.dont-nuke-the-climate.org


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น