13 กุมภาพันธ์ 2556

มะเร็งเม็ดเลือดขาว กับ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 7, มี.ค.-มิ.ย. 2552)

วารสารวิชาการเกี่ยวกับโรคมะเร็งในยุโรป “the European Journal of Cancer Care” ได้เผยแพร่ผลการศึกษา เกี่ยวกับโรงงานนิวเคลียร์และการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของเด็กๆ ในสหรัฐอเมริกา พบว่า การเกิดมะเร็งจากกัมมันตภาพรังสีเกิดขึ้นอย่างรุนแรงในเด็กและทารกในครรภ์ อัตราการตายจากโรคลูคีเมีย หรือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กอเมริกันที่อาศัยอยู่ใกล้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยอัตราการตายที่เพิ่มสูงที่สุดจะพบในบริเวณโรงงานนิวเคลียร์ที่ใช้งานมานานที่สุด ส่วนบริเวณโรงงานนิวเคลียร์ที่ปิดลงแล้วอย่างถาวรในช่วงทศวรรษที่ 1980 และ 1990 มีอัตราการตายน้อยกว่า

ผู้ควบคุมการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือสถาบันมะเร็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การดูแลของวุฒิสมาชิก เอ็ดเวิร์ด เอ็ม เคนเนดี้ ซึ่งเป็นเพียงความพยายามอย่างเดียวของเจ้าหน้าที่รัฐจากส่วนกลางที่จะตรวจสอบเรื่องการเกิดมะเร็งในบริเวณใกล้โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ของสหรัฐ

อเล็ค บอล์ดวิน นักแสดงและนักเคลื่อนไหวซึ่งสนใจเกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสีและผลกระทบต่อสุขภาพมาเป็นเวลา นานแล้ว กล่าวว่า

“การสัมผัสกับกัมมันตภาพรังสีที่มีความแรงระดับที่อยู่ในบริเวณโดยรอบของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ มีนัยสำคัญ ว่าเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งหลายอย่าง รวมทั้งความเจ็บป่วยอื่นๆ ด้วย”

เขายังกล่าวอีกว่า

“พลังงานนิวเคลียร์ไม่ใช่พลังงานที่สะอาด ไม่ไช่พลังงานที่มีประสิทธิภาพเหมือนยาแก้โรคร้อยแปดสำหรับแก้ปัญหาต่างๆ ที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน มันเป็นพลังงานสกปรก เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศของเรา และมันยังราคาแพงจนน่าหัวเราะ”

คณะวิจัยซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากโครงการรังสีและสาธารณสุข และสถาบันสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น มิชิแกน ได้วิเคราะห์เด็กที่เสียชีวิตจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีอายุตั้งแต่ 0 – 19 ปี ใน 67 เมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดจำนวน 51 โรงซึ่งเริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ปี 1957 – 1981 โดยเมือง 67 เมืองนี้มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 25 ล้านคน และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 51 โรงดังกล่าวถือเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงของอัตราการตายด้วยลูคีเมียในเด็กท้องถิ่นในช่วงปี 1985-2004 (เทียบกับเด็กทั่วสหรัฐ) เมื่อเทียบกับปีแรกสุดที่เตาปฏิกรณ์เริ่มเดินเครื่อง จะเป็นดังนี้

      เพิ่มขึ้น 13.9% ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ 1957 – 1970 (โรงที่เก่าที่สุด)
      เพิ่มขึ้น 9.8 % ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียรที่เริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ 1971 – 1981 (โรงที่ใหม่กว่า )
      ลดลง 5.5% ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เริ่มเดินเครื่องตั้งแต่ 1957 – 1981 และต่อมาถูกปิด

อัตราที่สูงขึ้น 13.9 % อยู่ในบริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้าเก่าที่ยังคงเดินเครื่อง ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบของการปนเปื้อนรังสีที่มากในบริเวณดังกล่าว ในขณะที่อัตราลดลง 5.5 % อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ปิดตัวลงแล้ว

รายงานครั้งนี้เป็นการติดตามงานศึกษาของมหาวิยาลัยการแพทย์แห่งเซาท์แคโรไลนา ซึ่งตรวจสอบรายงานทางการแพทย์ 17 ชิ้นเกี่ยวกับลูคีเมียในเด็กที่อาศัยอยู่ใกล้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และพบว่ารายงานทั้งหมดนั้นค้นพบอัตราการตายที่สูงขึ้น และในเดือนมกราคม 2008 ยังมีรายงานการศึกษาในประเทศเยอรมันที่ศึกษาในช่วงปี 1980-2003 ที่พบคำตอบเหมือนกันด้วย

โครงการรังสีและสาธารณสุข (The Radiation and Public Health Project) เป็นกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพในนิวยอร์คที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทำการศึกษาในเรื่องความเสี่ยงของสุขภาพจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์และการทดลองอาวุธนิวเคลียร์

ที่มา : Child Leukemia Rates Increase Near U.S. Nuclear Power Plants, Salem-News.com, http://www.salem-news.com/articles/may182009/kids_leukemia_5-18-09.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น