(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 1, มี.ค.-เม.ย. 2551)
นักฟิสิกส์ระหว่างประเทศเพื่อป้องกันสงครามนิวเคลียร์ ประเทศเยอรมัน หรือ The German section of International Physicians for the Prevention of Nuclear War (IPPNW) เผยผลการศึกษาพบว่า เด็กๆ ที่อายุต่ำกว่า 5 ปีมีความเสี่ยงสูงมากกว่าร้อยละ 60 ที่จะเป็นโรคมะเร็ง และความเสี่ยงจะเพิ่มเป็นมากกว่าร้อยละ 120 ที่จะเป็นโรคลูคีเมีย(มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ถ้าพวกเขายังอาศัยอยู่ในรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ผลการศึกษาของ IPPNW ครั้งนี้มาจากการศึกษาพื้นที่ที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตั้งอยู่ 16 แห่งในเยอรมันในช่วงเวลา 24 ปี ซึ่งเป็นโครงการที่รับผิดชอบโดยสำนักงานเพื่อการป้องกันกัมมันตภาพรังสี หรือ The Office for Radiation Protection (BfS) และจะถูกรายงานไปยังกระทรวงสิ่งแวดล้อมของประเทศเยอรมัน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมนซ์ (The University of Mainz) ระบุว่า “การศึกษาของเรายืนยันได้ว่า ในประเทศเยอรมัน ระยะห่างระหว่างบ้านเรือนกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนกับความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งและโรคลูคีเมียของเด็ก”
การศึกษาครั้งนี้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ.2544 หลังจาก ดร.อัลเฟรด คอร์เบล็น แห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมมิวนิค ได้พบว่า อัตราการเกิดโรคมะเร็งในเด็กที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บาวาเรียน มีจำนวนสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีจดหมายมากกว่า 10,000 ฉบับจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและกระทรวงต่างๆ ที่เรียกร้องให้มีการศึกษาเรื่องนี้
IPPNW แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “นับแต่นี้ไปการกำหนดความเสี่ยงของการป่วยเป็นมะเร็งซึ่งสัมพันธ์กับระยะห่างในการอาศัยอยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องทำให้ชัดเจนโดยเร็ว และประชากรที่ได้รับผลกระทบจากทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องได้รับการสำรวจตรวจสอบด้วยวิธีการที่เหมาะสมและทั่วถึง”
ปัจจุบันนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมเยอรมันได้ลดเกณฑ์ควบคุมปริมาณรังสีที่อนุญาตให้โรงงานนิวเคลียร์ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมได้** ซึ่ง IPPNW เรียกร้องว่า ต่อไปนี้ภาระที่แสนทุกข์ใจของพ่อแม่เด็กในการพิสูจน์ให้เห็นถึงสาเหตุการป่วยของเด็ก ไม่ควรเป็นภาระของพ่อแม่เด็กอีกต่อไป แต่ควรเป็นภาระของฝ่ายผู้ประกอบการโรงงานนิวเคลียร์มากกว่า”
ดร.เหม็ด แอนเจลิก้า คลอสเส็น ประธาน IPPNW ยังกล่าวด้วยว่า
“โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเยอรมันทุกแห่งมีข้อมูลมากมายที่ระบุเกี่ยวกับปฏิกิริยาลูกโซ่ของกัมมันต ภาพรังสีว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้นทุกกรณี ใครก็ตามที่บอกว่ามันเป็นเหตุบังเอิญ ช่างไร้สาระสิ้นดี “หลักการเตือนล่วงหน้า” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในกฎหมายสิ่งแวดล้อมของยุโรปปัจจุบัน ได้เรียกร้องเราว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของเยอรมันต้องปิดตัวลงทันที”
ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเยอรมัน กล่าวว่า เขาจะตรวจสอบการศึกษาชิ้นนี้ แต่ทางสำนักงานเพื่อการป้องกันกัมมันตภาพรังสี (BfS) ก็ควรประเมินผลการศึกษาของตัวเองด้วย ในขณะที่ IPPNW เห็นว่า ไม่ใช่ผลการศึกษาครั้งนี้ที่ต้องถูกตรวจสอบ แต่เป็นเกณฑ์ควบคุมปริมาณรังสี(ที่อนุญาตให้ปล่อยออกจากโรงงานนิวเคลียร์) ในปัจจุบันนี้ต่างหากที่ต้องถูกตรวจสอบ
หมายเหตุ : โรงงานนิวเคลียร์โดยทั่วไปจะมีการปล่อยสารกัมมันตรังสีออกสู่ภายนอกตลอดเวลา (ไม่มีโรงงานนิวเคลียร์ใด ในโลกที่ไม่แผ่กัมมันตภาพรังสีออกสู่ภายนอกเลย) แต่จะมีการกำหนดเกณฑ์ควบคุมระดับรังสีที่ยอมรับได้ว่าปลอดภัยต่อมนุษย์ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวนี้มีข้อถกเถียงมานานแล้วว่าปลอดภัยจริงหรือไม่
ถอดความจาก : German study : more childhood cancer near nuclear power plants, Nuclear Monitor, December 20, 2007, World Information Service on Energy (WISE)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น