13 กุมภาพันธ์ 2556

พลังงานนิวเคลียร์ “ช่วยลด” หรือ “ช่วยเพิ่ม” อันตรายของภาวะโลกร้อน ?

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 5, พ.ย.-ธ.ค. 2551)

เหตุผลหลักประการหนึ่งที่ผู้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์มักจะยกมาอ้างเสมอก็คือ การหันมาใช้พลังงานนิวเคลียร์มากขึ้นจะช่วยลดปัญหาโลกร้อน เพราะโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้ว ในทางกลับกัน ผลจากภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นในขณะนี้ กำลังกลายเป็นปัญหาที่คุกคามต่อความปลอดภัยในการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างเงียบๆ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องการน้ำปริมาณมหาศาล(มากกว่าโรง ไฟฟ้าอื่นๆ ทุกประเภท) เพื่อหล่อเย็นให้เครื่องสามารถทำงานได้ในอุณหภูมิที่ปลอดภัย แต่ถ้าแหล่งน้ำที่ป้อนน้ำให้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ หรือมีปริมาณน้ำลดลงกว่าปกติ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะยังคงเดินเครื่องได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ ? คำถามนี้ไม่เคยอยู่ในความคาดคิดในการใช้พลังงานนิวเคลียร์มาก่อน แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ “ภาวะโลกร้อน” ได้สำแดงปัญหาใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงต่อความปลอดภัยในการเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

เมื่อปี 2549 ได้เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่รุนแรงมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครอบคลุมหลายประเทศในยุโรป ประเทศสเปนต้องสั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 ใน 9 เครื่องที่มีอยู่ อย่างฉุกเฉินและหวุดหวิดเฉียดฉิวต่อโศกนาฏกรรม

สาเหตุก็คือคลื่นความร้อนครั้งนี้รุนแรงมากจนกระทั่งทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทำงานผิดปกติ ระบบระบายความร้อนไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเตาปฏิกรณ์ได้ จนเจ้าหน้าที่ต้องปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อย่างฉุกเฉิน ก่อนที่สถานการณ์จะเกินความสามารถที่จะควบคุมได้ ซึ่งนั่นก็คือการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความปลอดภัยของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ถูกคุกคามจากสภาพภูมิอากาศที่ร้อนจัดอย่างกระทันหัน จากปรากฏการณ์คลื่นความร้อน หรือแม้แต่ภาวะภัยแล้งก็เคยก่อปัญหาต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาแล้ว ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวนมากในยุโรปและอเมริกาต้องตกอยู่ในภาวะหนีเสือปะจระเข้ นั่นคือ “หยุดเดินเครื่อง” หรือ “ละเมิดกฎระเบียบด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม” ซึ่งทางเลือกทั้งสองล้วนเป็นการทำลายมายาภาพอันสวยงามของพลังงานนิวเคลียร์ทั้งสิ้น

ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในปี 2546, 2549 และ 2550 ได้ส่งผลกระทบถึงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งในอเมริกาและทวีปยุโรป ดังตัวอย่างเช่น

16 ส.ค. 2550 ที่รัฐเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บราวน์ส เฟอร์รี หน่วยที่ 2 ต้องหยุดเดินเครื่อง และหน่วยที่ 1 และ 3 ต้องลดกำลังผลิตลง 75% เนื่องจากอุณหภูมิของแม่น้ำเทนเนสซี่ร้อนเกินไปจากคลื่นความร้อนที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ทางการต้องติดต่อขอซื้อไฟฟ้าจากพื้นที่อื่นมาป้อนความต้องการที่สูงขึ้นตลอดเวลาเนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด

30 ก.ค. 2549 ในรัฐมิชิแกน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ D.C. Cook 1 ถูกสั่งปิดฉุกเฉิน หลังจากเจ้าหน้าที่ได้ใช้ความพยายามกว่า 8 ชั่วโมงที่จะทำให้เตาปฏิกรณ์เย็นลง แต่ไม่เป็นผลเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้น้ำในทะเลสาบมิชิแกนร้อนกว่าปกติและอุณหภูมิอากาศพุ่งสูงเกินกว่า 49 องศาเซลเซียส ถัดมาอีก 5 วัน เมื่อคลื่นความร้อนผ่านไป เตาปฏิกรณ์จึงสามารถกลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ

1 ส.ค. 2549 ที่เพนซิลวาเนีย สภาพน้ำที่ร้อนขึ้นทำให้สถานีผลิตไฟฟ้าลิเมอริคต้องตัดการส่งไฟฟ้าบางส่วนออกเพื่อลดการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์ (เท่ากับกระแสไฟฟ้าสำหรับบ้านเรือน 12,000 หลัง)

ในช่วงเวลาเดียวกันที่รัฐอิลินอยด์ เตาปฏิกรณ์ Quad Cities เครื่องที่ 1 และ 2 ต้องลดการผลิตไฟฟ้าลง 19% เนื่องจากน้ำในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น เตาปฏิกรณ์ 3 เครื่องในมินเนโซต้า และอีก 1 เครื่องในอิลินอยด์ ต้องลดกำลังผลิตเช่นกัน

ในช่วงเหตุการณ์คลื่นความร้อนซัดทวีปยุโรปเมื่อปี 2546 เตาปฏิกรณ์ 17 เครื่องของฝรั่งเศสต้องลดกำลังผลิต รวมทั้งบางแห่งต้องหยุดเดินเครื่อง ส่วนในเยอรมัน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Obrigheim ถูกปิดและเตาปฏิกรณ์อีก 2 เครื่องต้องลดกำลังผลิตเหลือ 80%

ฝรั่งเศสซึ่งเป็นเป็นประเทศที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก และมักจะถูกชูเป็นต้นแบบของประเทศที่มั่นคงด้วยพลังงานนิวเคลียร์และสามารถส่งจำหน่ายแก่ประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ทั้งยังอ้างว่า เป็นแนวทางที่ดีในการไม่ก่อปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากขึ้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ภาวะโลกร้อนกำลังจู่โจมฝรั่งเศสด้วยอันตรายแบบใหม่

ฝรั่งเศสมีเตาปฏิกรณ์ 58 เครี่อง ผลิตไฟฟ้าเกือบ 80% ของที่ใช้ในประเทศ แต่ในระหว่างช่วงร้อนสุดขีดในปี 2546 ซึ่งเกิดคลื่นความร้อนปกคลุมทวีปยุโรป เตาปฏิกรณ์จำนวน 17 เครื่องของฝรั่งเศสต้องลดกำลังผลิตและบางเครื่องต้องหยุดการผลิตไฟฟ้า ทำให้ EDF ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าของรัฐบาล ต้องหันไปรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในตลาดซื้อขายไฟฟ้า

สิ่งที่ EDF เตรียมการรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อีกก็คือ การสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น และการเสนอเงื่อนไขจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่หันมาตัดลดการบริโภคไฟฟ้าลง 


ในเยอรมัน ยักษ์ใหญ่แห่งอุตสาหกรรมพลังงานอย่างบริษัท E.ON เองก็ถูกกดดันให้ลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเวลาหลายเดือนเนื่องจากปัญหาอากาศร้อน เพตรา อูล์มานน์ โฆษกของ E.ON กล่าวว่า “เราคาดคะเนว่าอาจจะมีคลื่นความร้อนมากขึ้นในฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง และเราอาจจำเป็นต้องลดกำลังผลิตอีกครั้ง”
ภาวะภัยแล้ง

นอกจากปรากฏการณ์คลื่นความร้อนแล้ว ภัยแล้ง ซึ่งคาดกันว่าจะเกิดบ่อยครั้งขึ้นและรุนแรงมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน คือภัยคุกคามอีกประการหนึ่งที่ส่งผลต่อการเดินเครื่องของเตาปฏิกรณ์

ในปี 2548 ภาวะภัยแล้งได้ทำให้แม่น้ำ Vienne ในฝรั่งเศสหยุดไหล และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Civaux ซึ่งต้องใช้น้ำจากแม่น้ำนี้จำนวน 350,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สมควรต้องหยุดเดินเครื่องภายใต้ข้อกำหนดตามกฎหมายฝรั่งเศส เนื่องจากปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำ แต่โรงไฟฟ้าแห่งนี้กลับยังคงเดินเครื่องต่อไป

ในสหรัฐ ภัยแล้งในฤดูร้อนปี 2542 ที่จริงแล้วเตาปฏิกรณ์ Perry และ Davis-Besse ทางตอนเหนือของโอไฮโอ จะต้องถูกปิด เพราะระดับน้ำที่ต่ำมากของทะเลสาบ Erie และอุณหภูมิของน้ำที่สูงจนใกล้ระดับเกณฑ์กำหนดด้านความปลอดภัยสำหรับเตาปฏิกรณ์ ทำให้บริษัทเฟิร์สเอ็นเนอร์ยี เจ้าของโรงไฟฟ้าต้องวิ่งเต้นอย่างหนักที่จะให้คณะกรรมการกำกับพลังงานนิวเคลียร์ยกเลิกข้อกำหนดเกี่ยวกับอุณหภูมิของน้ำของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ในที่สุดคลื่นความร้อนก็ได้ผ่านพ้นไปก่อนที่คณะกรรมการฯ จะตัดสินใจ

“การหาน้ำให้เพียงพอสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คืองานแรกสุดและเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทำในอนาคต” เครก เนสบิตกล่าว เขาเป็นโฆษกของบริษัท Exelon กลุ่มธุรกิจนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงปัญหาการแย่งชิงน้ำจากภาคส่วนอื่นๆ มาป้อนให้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อันหิวกระหาย

ในสหรัฐอเมริกา 2 ใน 3 ของโรงฟ้านิวเคลียร์ที่มีอยู่ใช้น้ำจากทะเลสาบและแม่น้ำ รายงานของกลุ่มสิ่งแวดล้อม Public Citizen ระบุว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ที่จะก่อสร้างในรัฐอิลินอยด์ ที่บริเวณทะเลสาบคลินตัน ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร หรือ 8 ตารางไมล์ จะทำให้ระดับน้ำลดลงและเพิ่มอุณหภูมิของทะเลสาบในช่วงภาวะฝนแล้ง ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงขึ้นในภาคตะวันตกตอนกลางของสหรัฐ(ลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้) จากปัญหาโลกร้อน Public Citizen ยังกล่าวอีกว่า เครื่องปฏิกรณ์ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันในบริเวณทะเลสาบคลินตัน ซึ่งเป็นของบริษัท Exelon ได้ปล่อยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงกว่าน้ำในทะเลสาบ 25 องศาฟาเรนไฮต์ (14 องศาเซลเซียส) และทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของทะเลสาบสูงขึ้น 14 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของทะเลสาบ

ในประเทศอย่างออสเตรเลียซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาที่จะเริ่มใช้พลังงานนิวเคลียร์ จนเป็นที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดในขณะนี้ และในสหรัฐอเมริกาเอง เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานบางส่วนก็ได้เตือนให้ตระหนักถึงกับดักอันตรายในการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอยู่แล้ว เมื่อปี 2549 นักการเมืองในรัฐควีนสแลนด์ของออสเตรเลีย ได้จัดทำรายงานออกมาโดยสรุปความเห็นว่า มีพื้นที่ชายทะเลของออสเตรเลียเพียงไม่กี่แห่งที่เป็นไปได้สำหรับโครงการนิวเคลียร์ รายงานดังกล่าวยังเตือนด้วยว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่บกที่ห่างไกลจากทะเลจะกลายเป็นสิ่งคุกคามสำคัญต่อปัญหาแหล่งน้ำของประเทศ ซึ่งอ่วมอยู่แล้วด้วยปัญหาฝนแล้ง
การลดกำลังผลิตไฟฟ้าและค่าไฟที่แพงขึ้น
ในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน ซึ่งคาดกันว่าจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นจากภาวะโลกร้อน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มักจะถูกกดดันให้ลดกำลังการผลิตหรือกระทั่งหยุดเดินเครื่อง ในขณะที่ช่วงเวลาดังกล่าว ความต้องการใช้ไฟฟ้ามักจะสูงขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศ ผลที่เกิดขึ้นในสหรัฐและฝรั่งเศสก็คือ ราคาค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นอย่างพรวดพราด เช่น คลื่นความร้อนปี 2006 เป็นเหตุให้ราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐเพิ่มขึ้น 14% ส่วนในฝรั่งเศส คลื่นความร้อนเมื่อปี 2003 ทำให้ EDF ต้องซื้อกระแสไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งราคาค่าไฟพุ่งขึ้นถึง 1,350 ดอลล่าร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง (1,000 ยูนิต) จากราคาค่าไฟในช่วงฤดูร้อนปกติที่ 128 ดอลล่าร์ต่อเมกะวัตต์ชั่วโมง และ EDF ไม่ได้รับอนุญาตให้ผลักต้นทุนส่วนเพิ่มนี้ไปที่ผู้บริโภค ทำให้บริษัทมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 300 ล้านดอลล่าร์

ความเสียหายของสิ่งแวดล้อม
ในช่วงวิกฤตของคลื่นความร้อนหรือภัยแล้ง และจำเป็นต้องลดกำลังผลิตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้า มีอยู่หลายครั้งที่รัฐบาลเลือกที่จะละเลยมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยการยินยอมให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปล่อยน้ำร้อนที่มีอุณหภูมิสูงกว่าเกณฑ์กำหนดกลับลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งจะเป็นการก่อความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ของแหล่งน้ำได้ นอกจากนั้น น้ำหล่อเย็นเหล่านี้ยังเจือปนด้วยแอมโมเนีย ซึ่งเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2549 ในช่วงปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่เยอรมัน เตาปฏิกรณ์ ISar 1 และ Neckarwestheim ได้รับอนุญาตให้ระบายน้ำหล่อเย็นที่มีอุณหภูมิสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดลงสู่แม่น้ำ ส่วนที่ฝรั่งเศส ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน รัฐบาลได้ผ่อนปรนกฎเกณฑ์ควบคุมการปล่อยน้ำหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 3 แห่ง (Bugey, de Tricastin, และ Golfech) และต่อมา ก็ได้ผ่อนปรนเงื่อนไขเช่นเดียวกันให้กับเตาปฏิกรณ์ทั้งหมดที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำโดยอ้างว่าเพื่อเป็น “หลักประกันในการผลิตไฟฟ้าให้แก่ประเทศ” ทั้งนี้ ฝรั่งเศสมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 37 เครื่องจากจำนวน ทั้งสิ้น 58 เครื่องที่ปล่อยน้ำหล่อเย็นลงสู่แม่น้ำ

ตามปกติแล้ว การปล่อยน้ำร้อนของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฝรั่งเศส ส่วนใหญ่จะได้รับอนุญาตให้ปล่อยน้ำที่อุณหภูมิสูงกว่าน้ำปกติได้ไม่เกิน 1 องศา แต่ที่ Tricastin และเตาปฏิกรณ์อื่นๆ อีก 3 แห่ง อุณหภูมิกลับสูงกว่าถึง 3 องศา ซึ่งหมายถึงการที่สิ่งมีชีวิตในแม่น้ำจะถูกทำลาย และจากการให้อนุญาตดังกล่าว เตาปฏิกรณ์แห่งหนึ่งใน Blayais ได้ปล่อยน้ำร้อนเกินมาตรฐาน “อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ถึง 50 ครั้ง นอกจากนั้น คลื่นความร้อนที่รุนแรงยังทำให้อุณหภูมิของอากาศในอาคารเครื่องปฏิกรณ์เพิ่มขึ้น 2 องศา ซึ่งที่จริงแล้วจะต้องทำการหยุดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์อย่างฉุกเฉิน แต่วิธีการแก้ปัญหาของฝรั่งเศสก็คือ ให้คนงานใช้ท่อน้ำเย็นฉีดผนังด้านนอกของอาคารเครื่องปฏิกรณ์

สรุปแล้ว ในขณะที่อ้างกันว่า พลังงานนิวเคลียร์จะช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนว่าสองสิ่งนี้จะสัมพันธ์กันในทางที่น่ากลัวเสียมากกว่า


ข้อมูลจาก :

- Nuclear Power Can’t Stand The Heat, http://www.citizen.org

- Climate change puts nuclear energy into hot water, International herald Tribune, 20 May 2007

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น