ฝ่ายสนับสนุนนิวเคลียร์กำลังอ้างว่าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในราคาที่ถูกกว่าเชื้อเพลิงอื่น และในขณะเดียวกันก็ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่เป็นภัยคุกคามมนุษยชาติได้ด้วย
ในสหรัฐอเมริกา บรรดาบริษัทนิวเคลียร์ทั้งหลายกำลังเสนอให้มีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่อีก 30 เครื่อง และบางส่วนยังต้องการให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 300 โรงภายในกลางศตวรรษนี้ ซึ่งสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ก็ได้ขานรับโดยการเห็นชอบให้รัฐเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ก้อนมหึมา
การค้ำประกันอย่างไม่จำกัดเพดานเงินกู้ดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 9 พันล้านดอลลาร์ต่อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 1 เครื่อง สุดท้ายแล้ว ประชาชนผู้เสียภาษีอาจต้องตกอยู่ในภาวะเลวร้ายเพื่อสังเวย “ยุคฟื้นฟูพลังงานนิวเคลียร์” ซึ่งประชาชนอาจต้องเป็นผู้แบกรับภาระมากเกินกว่าที่จะรับไหว
หายนะจากการบริหารจัดการ
ในยุคริเริ่ม ไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ถูกวาดฝันไว้ว่าจะ “ถูกจนไม่ต้องสนใจมิเตอร์” (to cheap to meter) ทำให้รัฐบาลกลางใช้เงินกระตุ้นอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ให้เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งช่วยจำกัดเพดานความรับผิดชอบของบริษัทในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น แต่ด้วยต้นทุนการก่อสร้างที่พุ่งทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กว่า 100 แห่งต้องล้มเลิกไปกลางคัน โครงการที่ก่อสร้างไม่เสร็จเหล่านี้ นับเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งของโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างทั้งหมด ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ก่อสร้างขึ้นมาใช้งานจริงต้องขายกระแสไฟฟ้าด้วยราคาที่แพงขึ้นอย่างมหาศาล ผลพวงดังกล่าวคือสิ่งที่นิตยสารฟอร์บส์นำขึ้นพาดหัวหน้าปก เมื่อปี 2528 ว่า “ความหายนะจากการบริหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจ” ซึ่งมันได้ทำให้ :
- ผู้เสียภาษีต้องแบกภาระประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ จากการล้มเลิกการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหลาย(ที่สร้างค้างไว้)
- ผู้เสียภาษีต้องจ่ายอีกประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับต้นทุนของโรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างจนแล้วเสร็จอย่างงบบานปลาย
- ผู้เสียภาษีถูกเรียกเก็บอีกประมาณ 40,000 ล้านดอลลาร์ สำหรับ “ต้นทุนติดค้าง”(standed costs) ในกิจการไฟฟ้า จากการปรับโครงสร้างให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมไฟฟ้า
ต้นทุนที่แพงขึ้นๆ อย่างรวดเร็ว
ด้วยประวัติอันแสนด่างพร้อยของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ทำให้ในช่วง 30 ปีมานี้ ตลาดหุ้นวอลสตรีทและบรรดาสถาบันการเงินทั้งหลายต่างไม่ยินดีนักที่จะเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ๆ มาตลอด และเนื่องจากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ต้องการการลงทุนขนาดใหญ่ครั้งใหม่ (เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดได้) ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ๆ จึงถูกประมาณการไว้ด้วยตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
ในปี 2545 อุตสาหกรรมนิวเคลียร์และกระทรวงพลังงานของสหรัฐเสนอต้นทุนของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รุ่นใหม่อยู่ที่ 1.2-1.5 ล้านดอลลาร์ต่อเมกะวัตต์ นั่นคือต้นทุนสุทธิสำหรับเตาปฏิกรณ์ 1 เครื่องจะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 ล้านดอลลาร์ ต่อมาราวสิ้นปี 2551 กระทรวงพลังงานก็ได้รับคำร้องให้รัฐบาลกลางช่วยค้ำประกันเงินกู้ให้กับโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์จำนวน 21 เครื่อง มูลค่าการลงทุนประมาณ 188,000 ล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยเท่ากับเครื่องละ 9,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์การเงินและสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ออกมาเตือนว่า ต้นทุนที่คำนวณมานี้ มีความไม่แน่นอนเป็นอย่างสูง และน่าจะสูงขึ้นอีกอย่างมีนัยสำคัญ
อุตสาหกรรมนิวเคลียร์มีผลงานที่แย่สุดๆ ในเรื่องต้นทุนที่บานปลายสูงมาก ไม่เป็นไปตามตัวเลขที่ประมาณการไว้ ดังเช่นในสหรัฐอเมริกา โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่สร้างขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2509-2525 จำนวน 75 โรง ใช้เงินลงทุนจริงเกินกว่าต้นทุนที่คาดการณ์ไว้เมื่อริเริ่มโครงการมากกว่า 200 เปอร์เซ็นต์ หรือต้นทุนสุทธิเฉลี่ยคิดเป็น 3 เท่าของมูลค่าโครงการทีเดียว
ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหรัฐอเมริกา
ที่มา : สำนักงบประมาณสภาคองเกรสสหรัฐฯ (Congressional Budget Officc - CBO), 2008 |
ผู้เสียภาษี : เหยื่อสังเวยการฟื้นคืนชีพของพลังงานนิวเคลียร์
ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่ที่พุ่งสูงขึ้นมาก และมีแนวโน้มที่จะพุ่งขึ้นไปอีก ประกอบกับความไม่อยากเสี่ยงเข้ามาลงทุนของนักลงทุนในตลาดหุ้นวอลสตรีท ทำให้อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ต้องกลับไปขอพึ่งรัฐบาลกลางให้ช่วยค้ำประกันเงินกู้และให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปแบบอื่นๆ
กฎหมายนโยบายพลังงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาในปี 2005 ได้ให้อำนาจแก่กระทรวงพลังงานในการเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้แก่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ใช้เตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ รวมทั้งโครงการพลังงานอื่นๆ และได้จัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โครงการใหม่ๆ ไปแล้วถึง 18,500 ล้านดอลลาร์
ขณะนี้ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์กำลังร้องขอต่อสภาคองเกรสให้มีการขยายวงเงินอุดหนุนออกไปอีกภายใต้การจัดตั้ง “กองทุนเพื่อการลงทุนพลังงานสะอาด” ตามโครงการส่งเสริมพลังงานสะอาด หรือ CEDA ซึ่งในโครงการดังกล่าว นิยามของ “พลังงานสะอาด” นั้นครอบคลุมไปถึงนิวเคลียร์และถ่านหินด้วย
นั่นหมายความว่า โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ๆทั้งหลายในสหรัฐฯ นอกจากจะได้รับการอุดหนุนทาง การเงินจากรัฐโดยการค้ำประกันเงินกู้แล้ว ยังจะสามารถเบิกเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการลงทุนพลังงานสะอาดได้อีกด้วย
การค้ำประกันเงินกู้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่ได้ลดความเสี่ยงของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ แต่มันเป็นเพียงการถ่ายโอนความเสี่ยงจากบริษัทที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาสู่ประชาชนผู้เสียภาษี ระดับความเสี่ยงจะขึ้นอยู่กับจำนวนโรงไฟฟ้าที่ทำการก่อสร้าง ร้อยละของต้นทุนที่รัฐบาลค้ำประกัน และจำนวนของบริษัทที่ไม่ยินยอมชำระหนี้ สำนักงานความรับผิดชอบของรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Government Accountability Office : GAO) ประมาณการว่า อัตราเสี่ยงโดยเฉลี่ยของการเพิกเฉยต่อการชำระหนี้ที่ค้ำประกันโดยกระทรวงพลังงานอยู่ที่ร้อยละ 50 (1) และเมื่อพิจารณา ถึงโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ๆ ที่มีการเสนอต่อรัฐบาล ความเสี่ยงที่เป็นไปได้ของหนี้สินที่จะตกเป็นภาระของ ประชาชนผู้เสียภาษีจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ 360,000 ล้านดอลลาร์ถึง 1,600,000 ล้านดอลลาร์ (2)
ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ได้เคย ผลักภาระจากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นและงบประมาณที่บานปลายของโครงการต่างๆ ให้ประชาชนผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้มาหลายครั้งแล้ว เช่นเดียวกันกับการโยกย้ายความเสี่ยงในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ๆ จากบรรดาบริษัทไปสู่ผู้เสียภาษีในครั้งนี้ ก็อาจทำให้การค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหม่นำมาซึ่งการอุ้มชูอุตสาหกรรมที่ล้มเหลวในราคาที่แพงมหาศาลอีกครั้งหนึ่ง
ข้อมูลจาก : Nuclear Loan Guarantees Fact Sheet, Union of Concerned Scientists, April 2009
อ้างอิง
(1) U.S. Government Accountability Office. 2008
(2) Nuclear Loan Guarantees: Another Taxpayer Bailout Ahead? D. Schlissel et. al. March 2009
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น