14 กุมภาพันธ์ 2556

"หายนะภัยจากฝีมือมนุษย์" ข้อสรุปจากรายงานคณะกรรมการอิสระสอบสวนกรณีอุบัติเหตุฟูกูชิมะ


(จดหมายข่าวจับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 16, กรกฎาคม-สิงหาคม 2555)

“เหตุการณ์ แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เป็นหายนะจากภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่ช็อคคนทั้งโลก แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นตามมาที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ หากแต่เป็นภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าและเตรียมการป้องกันได้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นก็สามารถบรรเทาให้น้อยลงได้ด้วยการตอบสนองของมนุษย์ ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้”

ข้อความข้างต้นคือ ย่อหน้าแรกของ “สาส์นจากประธานคณะกรรมการอิสระฯ” ในรายงานอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการอิสระสอบสวนกรณีอุบัติเหตุนิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ (the Fukushima Nuclear Accident Independent Investigation Commission: NAIIC)
ซึ่งเป็นข้อสรุปที่แตกต่างจากความเข้าใจของคนทั่วโลกก่อนหน้านี้ที่ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้มีสาเหตุมาจากคลื่นยักษ์สึนามิที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจะรับมือได้ โดยหลักฐานที่บ่งชี้ว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เสียหายอย่างหนักก่อนที่ คลื่นยักษ์สึนามิจะโถมเข้าซัดชายฝั่งนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ



คณะ กรรมการอิสระฯ หรือ “NAIIC” ชุดนี้ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงของการเกิดหายนะภัยนิวเคลียร์ฟูกูชิมะอย่างมีอำนาจ เต็มและเป็นอิสระจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ นับเป็นคณะกรรมการอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นชุดแรกในประวัติศาสตร์การ ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น และรายงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดยรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมฉบับนี้ ได้เปิดเผยให้เห็นประเด็นที่ร้ายแรงหลายประการ และโต้แย้งรายงานที่จัดทำโดยรัฐบาลและบริษัทเท็ปโกก่อนหน้านี้

อุบัติเหตุจากการสูญเสียสารหล่อเย็น เป็นผลจากแผ่นดินไหว

ก่อน หน้านี้ บริษัทเท็ปโกได้ระบุในรายงานการตรวจสอบของตนว่า อุปกรณ์สำคัญของระบบควบคุมความปลอดภัยโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะไม่ได้รับความเสียหาย จากเหตุแผ่นดินไหว และสาเหตุหลักของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นคือสึนามิ เช่นเดียวกับรายงานของรัฐบาลที่เสนอต่อทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับรัฐบาลได้กล่าวไว้ด้วยว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะจำกัดสาเหตุโดยตรงของอุบัติเหตุในครั้งนี้ว่าเกิดจากสึนา มิโดยปราศจากหลักฐานที่สามารถยืนยัน”

แน่นอนว่า อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ (แผ่นดินไหวและสึนามิ) แต่ปัจจัยสำคัญอีกหลายประการที่สัมพันธ์กับการก่อตัวขึ้นของอุบัติเหตุก็ยัง ไม่สามารถรู้ได้ เนื่องจากอุปกรณ์และระบบท่อที่สำคัญจำนวนมากซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเกิด อุบัติเหตุล้วนอยู่ภายในอาคารปฏิกรณ์ ซึ่งการที่จะเข้าไปพิสูจน์หรือตรวจสอบใดๆ นั้น ยังคงไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาหลายปีข้างหน้านี้ เพราะมันเป็นพื้นที่ที่มีอันตรายถึงชีวิต (ดูล้อมกรอบ)

เท็ป โกระบุว่าระดับรังสีที่ตรวจวัดได้ที่ฐานเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ทำให้การทำความสะอาดต้องหยุดชะงัก จากการเก็บตัวอย่างหลังจากส่งกล้องถ่ายภาพและอุปกรณ์สำรวจผ่านช่องระบายน้ำ ที่ผนังฐานเครื่องปฏิกรณ์ พบว่า ระดับรังสีเหนือผิวน้ำที่ฐานเครื่องปฏิกรณ์พุ่งสูงถึง 10,300 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นระดับรังสีที่สามารถทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้ในระยะเวลาเพียงสั้นๆ หลังจากที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยในเวลาเพียงไม่กี่นาที สำหรับคนงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หากเข้าไปเพียง 20 วินาที ก็จะได้รับรังสีเกินเกณฑ์จำกัดที่สามารถรับได้ในเวลา 1 ปี  (จาก AFP, 28 มิถุนายน 2555)

อย่างไร ก็ตาม คณะกรรมการอิสระฯ ได้สอบสวนพบข้อมูลหลายประการที่บ่งชี้ได้ว่า เตาปฏิกรณ์ฟูกูชิมะได้รับความเสียหายอย่างหนักแล้วตั้งแต่หลังจากเกิดแผ่น ดินไหว และก่อน ที่สึนามิจะโถมมาถึงชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น จากอาการที่เรียกว่า “อุบัติเหตุจากการสูญเสียสารหล่อเย็น” (Lost Of Coolant Accident : LOCA) ซึ่งเป็นผลมาจากการปริแตกของท่อในระบบหล่อเย็น หรือความเสียหายอื่นใดที่เป็นผลมาจากการสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงของแผ่นดิน ไหว

คณะกรรมการอิสระฯ เชื่อว่า การโยนความผิดทั้งหมดไปให้คลื่นยักษ์สึนามิ ดังที่รายงานของเท็ปโกระบุ โดยไม่กล่าวโทษถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้มากกว่า เป็นความพยายามของเทปโกที่จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ

นายคิโยชิ คูราคาวะ ประธานคณะกรรมการอิสระฯ ได้กล่าวไว้ในรายงานฉบับนี้ว่า

“รายงาน ของเราได้แจกแจงความผิดพลาดและการละเลยอย่างตั้งใจจำนวนมากมายจนทำให้โรง ไฟฟ้าฟูกูชิมะไม่มีความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์วันที่ 11 มีนาคม และได้พิจารณาข้อบกพร่องที่ร้ายแรงของบริษัทเท็ปโก หน่วยงานกำกับความปลอดภัย และรัฐบาล ในการรับมือกับอุบัติเหตุ

จาก ข้อมูลรายละเอียดมากมายที่รวบรวมไว้ในรายงานนี้ สิ่งที่เราไม่สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะต่อประชาคมโลก ก็คือ ชุดความคิดที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างประมาทที่อยู่เบื้องหลังหายนะภัยครั้ง นี้

สิ่งที่เราต้องยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่แสนเจ็บปวด ก็คือ นี่คือหายนะภัยที่ “เมดอินเจแปน” เพราะสาเหตุพื้นฐานของมันสามารถพบได้ในแบบแผนวัฒนธรรมที่ฝังแน่นของชาว ญี่ปุ่น การอยู่ในโอวาท, การลังเลที่จะตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ, ความศรัทธาต่อ “การปฏิบัติตามโปรแกรมอย่างตายตัว”, ความเป็นกลุ่มนิยม และทัศนคติที่คร่ำครึคับแคบ”

ในบทสรุปของรายงาน คณะกรรมการอิสระฯ ยังได้กล่าวสรุปอย่างตรงไปตรงมาว่า

“อุบัติเหตุ นิวเคลียร์ฟูกูชิมะเป็นผลแห่งการสมยอมกันระหว่างรัฐบาล หน่วยงานกำกับดูแล และบริษัทเท็ปโก รวมทั้งการขาดธรรมาภิบาลของหน่วยงานที่กล่าวมา พวกเขาทรยศต่อสิทธิของประชาชนที่จะได้รับความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ นิวเคลียร์ ฉะนั้นเราจึงได้ข้อสรุปว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากน้ำมือมนุษย์โดยแท้ เราเชื่อว่าสาเหตุรากเหง้าก็คือ ระบบองค์กรและการกำกับดูแลที่สนับสนุนให้เกิดเหตุผลในการตัดสินใจกระทำการ ที่ผิดพลาด มากกว่าประเด็นเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ”

การเบี่ยงเบนประเด็นของฝ่ายอุตสาหกรรมนิวเคลียร์

รายงาน ของคณะกรรมการ NAIIC ถือว่าเป็นผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือที่สุดในขณะนี้ แต่จุดอ่อนของรายงานชิ้นนี้ก็คือ การสร้างวาทกรรมว่าหายนะครั้งนี้ “ผลิตขึ้นในญี่ปุ่น” ซึ่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไม่รีรอที่จะหยิบไปเบี่ยงเบน ประเด็น ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ซึ่งรายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ เว็บไซต์ World Nuclear News ก็ได้รายงานข่าวเรื่องนี้ทันทีโดยไม่ได้กล่าวถึงแม้แต่น้อยเลยว่า มีการสอบสวนพบว่าแผ่นดินไหวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ อย่างไร แต่กล่าวแต่เพียงว่า “วัฒนธรรมญี่ปุ่นเอง” ที่เป็นผู้ร้ายของเรื่องนี้ ซึ่งแสดงนัยว่า หายนะภัยฟูกูชิมะเป็น “อุบัติเหตุแบบญี่ปุ่น” ที่วัฒนธรรมญี่ปุ่นคือผู้ร้ายตัวเอก อุบัติเหตุนี้มาจากลักษณะความเป็นญี่ปุ่นเพียงลำพัง ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่พลังงานนิวเคลียร์ ดังนั้นแล้ว อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องแก้ไขจัดการ

จริง อยู่ที่การสมยอมกันระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัทเท็ปโกในการละเลยข้อ ปฏิบัติด้านความปลอดภัย คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะมีจุดอ่อน แต่นี่คือลักษณะเฉพาะของสังคมญี่ปุ่นละหรือ ? คำตอบก็คือไม่ใช่ รวมทั้ง “ลักษณะญี่ปุ่น” ที่กล่าวไว้ในรายงาน ทั้งการอยู่ในโอวาท, การลังเลที่จะตั้งคำถามต่อผู้มีอำนาจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มิใช่เป็นอยู่เฉพาะแต่สังคมญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เป็นลักษณะร่วมของสังคมแทบทุกชาติ (สังเกตได้จากสังคมไทย เป็นต้น)

อัน ที่จริง โดยทั่วไปแล้ว ฝ่ายอุตสาหกรรมนิวเคลียร์มักจะมีการเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ มีหน้าที่กำกับดูแล ตัวอย่างเช่นในเนเธอร์แลนด์ ฝ่ายกำกับดูแลและฝ่ายส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ต่างก็สังกัดอยู่ใน กระทรวงเดียวกัน หรือในระดับสากล หน้าที่หลักของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ก็คือการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานนิวเคลียร์ให้กว้างขวางขึ้น และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้กำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการใช้พลังงาน นิวเคลียร์ไปด้วย ลัษณะเช่นนี้ย่อมมีโอกาสที่จะนำไปสู่การสมยอมกันเช่นในญี่ปุ่น ดังนั้น การบ่งชี้ไปยังปัญหาทางวัฒนธรรมในรายงานการตรวจสอบที่สำคัญฉบับนี้ จึงส่งผลโดยไม่ตั้งใจให้เกิดการเบี่ยงเบนประเด็นปัญหาไปจากจุดสำคัญ

บทเรียนที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่เก็บรับ

นาย คิโยชิ คูราคาวะ ได้จบท้ายคำกล่าวของเขาใน “สาส์นจากประธานคณะกรรมการอิสระฯ” ด้วยความหวังที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมประชาธิปไตยของญี่ปุ่นว่า

“ความ ประมาทในกรณีฟูกูชิมะได้แสดงผลออกมาเป็นความหายนะ แต่จิตใจที่มุ่งมั่นที่จะช่วยกันกอบกู้หายนะก็ได้ปรากฎออกมาให้เห็นไปทั่ว ทั้งญี่ปุ่น ด้วยความจริงอันประจักษ์ต่อเรานี้ เราทุกคนจึงควรที่จะพิจารณาไตร่ตรองถึงความรับผิดชอบของเราในฐานะ ปัจเจกบุคคลในสังคมประชาธิปไตย ในฐานะคณะกรรมการอิสระชุดแรกที่ได้รับอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติโดยเป็นอิสระ จากฝ่ายบริหาร เราหวังว่าการริเริ่มนี้จะมีส่วนสนับสนุนการพัฒนาภาคประชาสังคมของเรา”

ใน ช่วงจังหวะเวลาที่รายงานชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ประชาชนญี่ปุ่นเรือนแสนกำลังประท้วงรัฐบาลของตนที่ได้อนุมัติให้เตาปฏิกรณ์ 2 เครื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โออิกลับมาเดินเครื่องได้อีกครั้ง แต่รัฐบาลก็เมินเฉยต่อเสียงเรียกร้องที่ดังก้องของประชาสัมคมญี่ปุ่นที่ กำลังกระตือรือร้นอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ที่สำคัญ รัฐบาลยังได้ละเลยต่อข้อเท็จจริงอันเป็นบทเรียนจากฟูกูชิมะ นั่นก็คือ ปัจจัยต่างๆ ที่นำไปสู่หายนะที่ฟูกูชิมะนั้นยังคงสิงสถิตอยู่ในสังคมญี่ปุ่นอยู่ดังเดิม ทั้งปัจจัยทางด้านวัฒนธรรม และโอกาสที่ญี่ปุ่นจะเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ครั้งใหม่ ท่ามกลางมาตรฐานการกำกับความปลอดภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังไม่ได้ถูก ปรับปรุงจนไว้วางใจได้

น่าเสียดายที่บทเรียนจากหายนะครั้งนี้ รัฐบาลและบริษัทนิวเคลียร์ญี่ปุ่น สามารถเรียนรู้ได้น้อยเกินไป

ข้อมูลจาก
1.) WISE Nuclear Monitor No. 752, 13 July 2012
2.) The official report of The Fukushima Nuclear AccidentIndependent Investigation Commission (executive summary)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น