Pages

15 กุมภาพันธ์ 2556

เซลลาฟิลด์ : โรงงานนิวเคลียร์ที่มีพิษที่สุดในยุโรป

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 18, พ.ย.-ธ.ค. 2555)

“เซลลาฟิลด์” ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงหนึ่ง แต่เป็นเสมือน “นิคมอุตสาหกรรมนิวเคลียร์” ในเขตคัมเบรียทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ มีเนื้อที่ 6 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 3,750 ไร่) อันเป็นที่ตั้งของโรงงานนิวเคลียร์หลายประเภท นับตั้งแต่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้ในทางทหาร โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงงานสกัดแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว โรงงานผนึกกากนิวเคลียร์ด้วยแก้ว และอื่นๆ รวมทั้งกากนิวเคลียร์อีกจำนวนมหาศาลที่ถูกเก็บในบ่อและโกดังหลายแห่ง



ด้วย อายุที่ยาวนานมากกว่า 50 ปีและอุบัติเหตุที่ทำให้มีการรั่วไหลของรังสีหลายครั้ง ทำให้เซลลาฟิลด์เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพิษของรังสี และถูกจัดให้เป็นโรงงานนิวเคลียร์ที่มีอันตรายมากที่สุดในทวีปยุโรป

ตัว อย่างเล็กๆ ที่แสดงถึงอันตรายของมันก็คือ “นกพิราบปนเปื้อนรังสี” ที่เปรียบเสมือน “ขยะรังสีบินได้” ที่สามารถบินเข้าไปในเขตชุมชนพร้อมกับสารกัมมันตรังสีที่ติดอยู่บนขนหรือแม้ กระทั้งมูลของมัน โดยในปี 2541 ทางการอังกฤษต้องออกประกาศเตือนขอให้ประชาชนอย่าแตะต้องหรือนำนกพิราบใน รัศมี 10 ไมล์จากโรงงานเซลลาฟิลด์มารับประทาน ปัญหาขยะรังสีบินได้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังมีการตรวจพบ “นกนางแอ่นปนเปื้อนรังสี” อีกด้วย

ในช่วง 50 กว่าปีที่ผ่านมา เคยมีอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงระดับ 3-5 ของอุบัติเหตุนิวเคลียร์ (สูงสุดคือระดับ 7) เกิดขึ้นในโรงงานเซลลาฟิลด์ถึง 21 ครั้ง สารรังสีที่ปล่อยลงสู่ทะเลทั้งโดยตั้งใจและจากการรั่วไหล ทำให้ทะเลไอริชถูกจัดให้เป็นทะเลที่ปนเปื้อนรังสีสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ปัจจุบัน โรงงานส่วนใหญ่ในเซลลาฟิลด์ได้ปิดดำเนินการไปนานแล้ว ส่วนที่ยังใช้งานอยู่มีเพียงโรงงานผลิตเชื้อเพลิงนิวเคลียร์แบบอ็อกไซด์ผสม ที่เรียกว่า “MOX” ซึ่งมีการประกาศยืนยันเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะหยุดดำเนินการในปี 2561

การลงทุนที่ล้มเหลวอย่างมโหฬาร
หลัง สิ้นยุคของการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เซลลาฟิลด์ได้ถูกพัฒนาให้เป็นโรงงานสกัดซ้ำ (reprocessing) แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว เพื่อสกัดเอาพลูโตเนียมและยูเรเนียมที่ยังหลงเหลืออยู่กลับมาใช้เป็นเชื้อ เพลิงใหม่ ด้วยเงินลงทุนหลายพันล้านยูโรที่มาจากภาษีของประชาชน “โรงงานเชื้อเพลิง MOX เซลลาฟิลด์” ก็ได้เปิดกิจการในปี 2544 มันถูกออกแบบให้มีกำลังผลิต 120 ตันต่อปี แต่เอาเข้าจริง ในการดำเนินการ 8 ปีแรกกลับสามารถผลิตเชื้อเพลิง MOX ได้เพียง 13 ตันเท่านั้น

โครงการ นี้ถือเป็นการลงทุนที่ล้มเหลวอย่างมโหฬารที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ อังกฤษ ซึ่งที่จริงแล้ว การ reprocessing เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วเป็นเรื่องที่ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่เป็นความพยายามของฝ่ายอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่จะหาทางออกให้กับจุดอ่อนข องพลังงานนิวเคลียร์ในเรื่องปัญหากากนิวเคลียร์ โดยทำให้เห็นว่ามันสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ แต่ในความเป็นจริงก็คือ การ reprocessing กลับทำให้มีกากนิวเคลียร์ที่เป็นภาระในระยะยาวเพิ่มมากขึ้นไปอีก

กาก นิวเคลียร์จำนวนมหาศาลที่เก็บไว้ชั่วคราวในเซลลาฟิลด์มีปริมาณมากถึง 68,000 ลูกบาศก์เมตร หรือเทียบเท่ากับปริมาตรของสระว่ายน้ำโอลิมปิก 27 สระ ยังไม่นับรวมวัสดุ อุปกรณ์ และซากอาคารต่างๆ ที่เลิกใช้งานแล้ว ซึ่งถือเป็นกากนิวเคลียร์ที่ต้องทำการบำบัดและจัดเก็บด้วยวิธีการเช่นเดียว กับการจัดการกากนิวเคลียร์

การรื้อถอน : ต้นทุนที่ต้องจ่ายย้อนหลัง

นับ จากปี 2548 เป็นต้นมา นิคมนิวเคลียร์เซลลาฟิลด์ได้ถูกโอนให้อยู่ในความรับผิดชอบของ “สำนักปลดระวางนิวเคลียร์” (Nuclear Decommissioning Authority : NDA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่ก่อตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับมอบภารกิจในการปลดระวางและ รื้อถอนโรงงานนิวเคลียร์เก่าที่หยุดดำเนินการลงในประเทศอังกฤษ และ “เซลลาฟิลด์” ก็คือภารกิจแรกของหน่วยงานใหม่แห่งนี้

ตาม รายงานตรวจสอบการใช้งบประมาณโดยสำนักงานตรวจเงินแห่งชาติของอังกฤษ (The National Audit Office : NAO) ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนตุลาคม 2555 ระบุว่า

“นับตั้งแต่เปิดดำเนินการมา ผู้ประกอบการโรงงานเซลลาฟิลด์ไม่ได้คำนึงถึงการปลดระวางหรือการกำกัดกาก นิวเคลียร์อย่างเพียงพอ สำนักปลดระวางนิวเคลียร์ต้องรับสืบทอดมรดกของโครงการที่แย่และขาดการเอาใจ ใส่ อาคารและเครื่องจักรอุปกรณ์กว่า 1,400 รายการซึ่งมีจำนวน 240 รายการที่มีวัสดุนิวเคลียร์นั้น บางส่วนอยู่ในสภาพทรุดโทรมและมีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญที่จะเกิดอันตราย ต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม”

การรื้อถอนนิคมฯ เซลลาฟิลด์จึงถือเป็นงานอภิมหาหินที่จะต้องรื้อถอนด้วยความระมัดระวัง ทำความสะอาดการปนเปื้อนรังสี และผนึกกากนิวเคลียร์ทั้งหมดไว้ในภาชนะที่สามารถป้องกันรังสีได้นาน 100 ปี เพื่อรอเวลาที่จะพัฒนาสถานที่จัดเก็บกากนิวเคลียร์อย่างถาวรได้สำเร็จ (ซึ่งยังไม่ทราบว่าเมื่อไหร่)

สำหรับงบประมาณดำเนินการ ที่ประเมินไว้ในปี 2548 อยู่ที่ 31,500 ล้านยูโร (1.26 ล้านล้านบาท) แต่เมื่อถึงปี 2555 ตัวเลขประเมินก็พุ่งขึ้นเป็น 67,500 ล้านยูโร (ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท) ภายใต้งบประมาณนี้ เป้าหมายที่กำหนดไว้ก็คือ การรื้อถอนโรงงานทั้งหมดจะแล้วเสร็จในปี 2563 ยกเว้นกรณีบ่อน้ำเก็บกากนิวเคลียร์และโกดังกากนิวเคลียร์ที่เต็มไปด้วยสาร กัมมันตรังสีเข้มข้นตั้งแต่สมัยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จะต้องใช้เวลารื้อถอนจนถึงปี 2579 เท่านั้นยังไม่จบ เพราะยังเหลือการก่อสร้างสถานที่จัดเก็บกากนิวเคลียร์ถาวร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีสถานที่ที่เหมาะสม โดยเป้าหมายที่คาดว่าจะทำได้เสร็จสมบูรณ์ก็คือปี พ.ศ. 2663 หรืออีก 100 ปีข้างหน้า !!!

สำนักงานตรวจสอบบัญชีแห่งชาติยังระบุใน รายงานด้วยว่า “หนี้สินที่ถูกละเลยในประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการต้องเผชิญกับความยากลำบากในการที่จะเดินหน้าการปลด ระวางเซลลาฟิลด์ต่อไป”

“หนี้สินที่ถูกละเลยใน ประวัติศาสตร์” ของเซลลาฟิลด์ ก้อนนี้ คือภาระจากอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่ชาวอังกฤษต้องร่วมกันชดใช้ต่อไปอีกนับ ร้อยๆ ปี


นิคมนิวเคลียร์เซลลาฟิลด์ : ภาระ 100 ปีในการปลอระวางและรื้อถอน

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของนิคมนิวเคลียร์เซลลาฟิลด์เริ่มต้นจากการเป็น โรงงานผลิตอาวุธของประเทศอังกฤษในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสงครามโลกยุติลง การแข่งขันพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของชาติมหาอำนาจก็เริ่มต้นขึ้น โรงงานเซลลาฟิลด์ถูกดัดแปลงให้เป็นโรงงานผลิตพลูโตเนียม เพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับสร้างระเบิดปรมาณู เตาปฏิกรณ์วินด์สเกลไพล์ 2 เครื่องจึงถูกก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2490 เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการนี้ ถัดมาคือการก่อสร้างโรงงานสกัดพลูโตเนียมจากแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วของเตา ปฏิกรณ์วินสเกลไพล์ ที่เรียกว่า “โรงงาน B204” ซึ่งเปิดดำเนินการในปี 2494

ต่อมาในปี 2496 ก็มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แคลเดอร์ฮอลล์และสามารถเปิดใช้งานได้ในปี 2499 ซึ่งถือเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชิงพานิชย์โรงแรกของโลก แต่แท้จริงแล้ว วัตถุประสงค์หลักของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แคลเดอร์ฮอลล์ยังคงอยู่ที่การผลิต พลูโตเนียมเพื่อใช้ในทางทหาร ส่วนไฟฟ้านั้นถือเป็นผลพลอยได้

ในปี 2505 ได้มีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้นแบบของอังกฤษที่ใช้แก๊สเป็นตัวหล่อ เย็นที่เรียกว่า Windscale Advanced Gas Cooled Reactor (WAGR) ซึ่งเป็นเตาปฏิกรณ์รุ่นที่ 2 ที่พัฒนามาจากเตาปฏิกรณ์แบบ Magnox ที่ใช้อยู่ในโรงไฟฟ้าแคลเดอร์ฮอลล์ ถัดมาในปี 2507 รัฐบาลอังกฤษก็ต้องก่อสร้างโรงงานสกัดแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์แบบ Magnox (Magnox reprocessing plant) ขึ้นอีกหนึ่งโรง หลังจากพบว่าแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วชนิดนี้ เมื่อนำไปจัดเก็บโดยแช่ไว้ใต้น้ำจะเกิดการกัดกร่อน

ในปี 2537 โรงงานสกัดแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว THORP (Thermal Oxide Reprocessing Plant) ก็ก่อสร้างเสร็จและเริ่มเปิดใช้งาน โรงงาน THORP เป็นโรงงานที่นำแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบ WAGR มาสกัดเอาพลูโตเนียมและยูเรเนียมที่ยังหลงเหลือในแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วออก มาใช้ประโยชน์ใหม่

โรงงานสุดท้ายที่มีการก่อสร้างขึ้นก็คือโรงงานผลิตแท่งเชื้อเพลิง MOX เซลลาฟิลด์ (Sellafield MOX Plant) ที่เปิดดำเนินการในปี 2544 เพื่อผลิตเชื้อเพลิง MOX (Mixed-Oxide) ซึ่งหมายถึงอ็อกไซด์ผสมของพลูโตเนียมและยูเรเนียมที่สกัดได้จากโรงงาน THORP

ประเทศอังกฤษสะสมพลูโตเนียมอ็อกไซด์ไว้เป็นจำนวนมาก ด้วยความฝันอันสวยหรูว่าวัตถุมหันตภัยนี้จะแปรเปลี่ยนเป็นกำไรก้อนงามจากการ ขายแท่งเชื้อเพลิง MOX ทำให้เซลลาฟิลด์เป็นคลังพลูโตเนียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โครงการผลิตแท่งเชื้อเพลิง MOX ลงทุนก่อสร้างและดำเนินการมาเป็นเวลา 10 ปี ก่อนที่จะจบลงด้วยความล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะมีลูกค้าเพียงไม่กี่ประเทศที่สั่งซื้อเชื้อเพลิงชนิดนี้จากโรงงานเซลลา ฟิลด์ ลูกค้ารายสำคัญที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุฟูกูชิมะในปี 2554 ทำให้อนาคตของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นดับวูบ จนต้องขอยกเลิกคำสั่งซื้อเชื้อเพลิง MOX จากโรงงานเซลลาฟิลด์ทั้งหมด อย่างน้อยในเวลา 10 ปีข้างหน้านี้

ในเดือนมิถุนายน 2555 “สำนักปลดระวางนิวเคลียร์” ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้เป็นเจ้าของนิคมนิวเคลียร์เซลลาฟิลด์ได้ประกาศว่า โรงงานเชื้อเพลิง MOX เซลลาฟิลด์จะต้องถูกปลดระวางในปี 2561 เพื่อเริ่มกระบวนการรื้อถอน

ตามแผนที่สำนักปลดระวางนิวเคลียร์วางไว้ การรื้อถอนและจัดเก็บกากนิวเคลียร์จะเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2663

แหล่งข้อมูล
- Sellafield nuclear waste storage is ‘intolerable risk’, www.bbc.co.uk, 7 Nov. 2012
- Managing risk reduction at Sellafield, National Audit Office, 7 November 2012
- Sellafield swallows contaminated by radioactivity, www.guardian.co.uk, 8 June 2012
- www.sellafieldsites.com 

- Wikipedia


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น