(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 8, ก.ค.-ก.ย. 2552)
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าโอลกิลูโอโท3 ประเทศฟินแลนด์ |
นับตั้งแต่อุบัติเหตุโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลระเบิดเมื่อปี 2529 เป็นเวลากว่า 20 ปีมาแล้วที่ประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปตะวันตกต่างไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่อีกเลย จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้ ภายใต้ความพยายามดิ้นรนหนีตายของบรรดากลุ่มอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ประเด็นภาวะโลกร้อนได้ถูกใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการ ฟื้นฟูความนิยมของพลังงานนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่ และฟินแลนด์ก็คือประเทศแรกสุดในยุโรปที่ตัดสินใจก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงใหม่ ด้วยความเชื่อมั่นตามที่กลุ่มอุตสาหกรรมนิวเคลียร์โฆษณาว่า โลกกำลังจะก้าวเข้าสู่ “ยุคฟื้นฟู” ของพลังงานนิวเคลียร์ (Nuclear Renaissance)
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดมหึมา ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยโคลนบนเกาะโอลกิลูโอโทในประเทศฟินแลนด์นี้ ถูกทึกทักให้เป็น “เรือธง” ของพลังงานนิวเคลียร์ที่จะแล่นนำชาวโลกเข้าสู่ยุคฟื้นฟูพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังจะมาถึง ด้วยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยสร้างขึ้นมาในโลก (ขนาด 1,600 เมกะวัตต์) และเทคโนโลยีเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ที่อวดอ้างกันว่าจะสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว ราคาถูก ทั้งยังมีความปลอดภัยมากกว่าเตาปฏิกรณ์รุ่นก่อนๆ แต่ทว่า มาถึงวันนี้ มันได้กลายเป็นฝันร้ายของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ไปเสียแล้ว
การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องใหม่ของประเทศฟินแลนด์ (Olkiluoto 3) ได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2548 ด้วยความหวังว่ามันจะเริ่มต้นผลิตไฟฟ้าได้ในเดือนมีนาคมของปี 2552 แต่ถึง ณ ขณะนี้ (กันยายน 52) ท่ามกลางข้อบกพร่องนับเป็นพันๆ แห่งของงานก่อสร้างตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เตาปฏิกรณ์เครื่องนี้มีความคืบหน้ามาได้เพียง 50% ในขณะที่รัฐบาลฟินแลนด์ หรือกระทั่งบริษัทอารีวาผู้ดำเนินการก่อสร้างเอง ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้แน่ชัดว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถใช้งานได้เมื่อไหร่แน่
อารีวา (AREVA) คือบริษัทนิวเคลียร์ยักษ์ใหญ่ของโลกที่รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ ประเทศฝรั่งเศสใช้พลังงานนิวเคลียร์ถึง 80% จากเตาปฏิกรณ์ 58 เครื่อง ในช่วงทศวรรษที่ 1990 อารีวาได้ร่วมมือกับบริษัทของเยอรมันทำการออกแบบเตาปฏิกรณ์รุ่นที่ 3+ ที่เรียกว่า European Pressurized Reactor หรือ EPR โดยมีการโฆษณาสรรพคุณว่า เป็นเตาปฏิกรณ์ที่สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ราคาถูก และมีความปลอดภัยมากกว่าเตาปฏิกรณ์รุ่นก่อนๆ
อย่างไรก็ตาม เป็นเวลานานที่เตาปฏิกรณ์รุ่นดังกล่าวนี้ไม่มีผู้สั่งซื้อในประเทศฝรั่งเศสเลย เนื่องจากการอิ่มตัวของตลาดพลังงาน รวมทั้งการต่อต้านจากสมาชิกพรรคกรีนซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ดังนั้น อารีวาจึงหันไปที่ฟินแลนด์ ที่ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบรรดากลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องใช้พลังงานอย่างเข้มข้นทั้งหลายได้ พยายามล็อบบี้มานานถึง 15 ปีเพื่อให้มีการเพิ่มการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในประเทศฟินแลนด์
ในปี 2544 รัฐสภาฟินแลนด์ได้โหวตผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงหวุดหวิดให้มีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เครื่องใหม่นี้ที่โอลกิลูโอโท (Olkiluoto) ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งในทะเลบอลติก และการก่อสร้างก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปี 2548
โครงการนี้เริ่มต้นด้วยงบประมาณ 3,200 ล้านยูโร โดยเจ้าของโครงการคือ Teollisuuden Voima (TVO) บริษัทนิวเคลียร์ของฟินแลนด์ ได้รับประกันว่ามันจะพร้อมใช้งานตามเวลาที่รัฐบาลฟินแลนด์ต้องการ เพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธะสัญญาภายใต้พิธีสารเกียวโต ส่วนทางด้านบริษัทอารีวาก็คุยว่าเตาปฏิกรณ์เครื่องนี้จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถูกกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ทั้งยังกล่าวด้วยว่าเครื่องปฏิกรณ์นี้จะสามารถจ่ายพลังไฟฟ้าได้ถึง 1,600 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 10% ของความต้องการไฟฟ้าของประเทศฟินแลนด์
“เรือธง” ที่เกยตื้น
ที่ไซต์งานก่อสร้างที่โอลกิลูโอโทคับคั่งไปด้วยคนงานกว่า 4,000 คนในแต่ละกะ ป้ายผ้าระบุชื่อบริษัทรับเหมาช่วงจำนวนมากมายจากทั่วยุโรปกระพืออยู่ในสายลมเหนือสำนักงานและร้านอาหารชั่วคราว ที่นั่น มีผู้คนกว่าหนึ่งหมื่นคนที่พูดคุยกันด้วยภาษาอย่างน้อย 8 ภาษา ทำงานกันอยู่ที่ไซต์งานก่อสร้าง แรงงานประมาณ 30% เป็นชาวโปแลนด์ ซึ่งดูเหมือนการพูดจาสื่อสาร (เพื่อ สั่งงาน) กันจะเป็นปัญหา
ปัญหาสำคัญได้เกิดขึ้นตั้งแต่การก่อสร้างฐานคอนกรีตขนาดใหญ่ซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนฐานรากของอาคารเครื่องปฏิกรณ์ โดยหน่วยงานกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์ของฟินแลนด์ได้ตรวจพบว่ามีรูพรุนมากเกินไปและมีแน้วโน้มที่จะเกิดปัญหาการกัดกร่อนตามมา ทั้งนี้ ได้มีการกล่าวโทษบริษัทอารีวาที่ปล่อยให้บริษัทรับเหมาช่วงที่ไม่มีประสบการณ์เข้ามาเป็นผู้ทำงานก่อสร้าง
ขณะนี้ต้นทุนโครงการได้เพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 2,300 ล้านยูโร จากราคาที่เสนอต่อฟินแลนด์ครั้งแรกในปี 2545 เท่ากับ 2,500 ล้านยูโร และเพิ่มขึ้นเป็น 3,200 ล้านยูโรขณะทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างในปี 2548 เท่ากับว่าต้นทุนประมาณการในขณะนี้พุ่งขึ้นไปถึง 5,500 ล้านยูโรแล้ว ในขณะที่การก่อสร้างเพิ่งจะคืบหน้าไปเพียง 50% จากสัญญาที่กำหนดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งข้อสรุปในขณะนี้ก็คือ โครงการจะแล้วเสร็จช้ากว่ากำหนดอย่างน้อย 3 ปี
ล่าสุด บริษัทอารีวากล่าวยอมรับว่า ประมาณการต้นทุนค่าก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เครื่องนี้อาจสูงถึง 6,000 ล้านยูโร หรือเท่ากับสองเท่าของราคาขณะเซ็นสัญญาก่อสร้าง และถึงแม้โครงการนี้จะเป็นการจ้างเหมาแบบเบ็ดเสร็จ (Turn-Key) ที่กำหนดราคาไว้ตายตัว แต่อารีวากล่าวว่าจะขอคิดเงินเพิ่มจาก TVO ทั้งนี้ อารีวากล่าวโทษ TVO ว่าหน่วงเหนี่ยวให้การก่อสร้างล่าช้าและทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แต่หน่วยงานกำกับความปลอดภัยของฟินแลนด์โต้แย้งว่า อารีวาได้ มอบหมายงานก่อสร้างบางส่วนให้แก่ผู้รับเหมาช่วงที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นอารีวาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น
ส่วนทางด้าน TVO ก็กำลังเรียกค่าเสียหายจากอารีวา ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะนำข้อขัดแย้งเข้าสู่อนุญาโตตุลาการ โดยต่างฝ่ายต่างเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันเป็นเงินมากกว่า 1,000 ล้านยูโร และในเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา อารีวาได้ประกาศหยุดงานก่อสร้างที่ไซต์งาน จนกว่า TVO จะยินยอมแก้ไขสัญญาตามข้อเรียกร้องที่ตนเสนอ ทั้งในเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้นและระยะเวลาที่จะต้องขยายออกไป
อารีวาต้องหน้าแตกยับเยินจากการที่ได้อวดโอ่สรรพคุณของเตาปฏิกรณ์ EPR ของตนไว้อย่างเลอเลิศว่า “รวดเร็ว ราคาถูก และปลอดภัย” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกลับตรงกันข้ามทั้งหมด นั่นคือ “ช้า แพง และน่าสงสัยในความปลอดภัย” ไม่เพียงเท่านั้น อารีวายังต้องขายหน้าซ้ำสองในบ้านของตัวเอง เพราะที่ฟลามองวิลล์ในประเทศฝรั่งเศส การก่อสร้างเตาปฏิกรณ์รุ่น EPR เครื่องที่ 2 ของโลก ก็กำลังอยู่ในสภาพล่าช้ากว่ากำหนดและต้นทุนบานปลายเช่นกัน
ที่ไซต์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟลามองวิลล์ หน่วยงานตรวจสอบความปลอดภัยนิวเคลียร์ฝรั่งเศสได้ตรวจพบรอยแตกร้าวที่ฐานคอนกรีตและเหล็กโครงสร้างที่ถูกจัดวางอย่างผิดตำแหน่ง จึงได้ว่าตักเตือนไปถึงการไฟฟ้าแห่งฝรั่งเศส(Électricité de France) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ที่ใช้ช่างเชื่อมโลหะที่มีฝีมือไม่ผ่านมาตรฐานมาทำงานก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เครื่องนี้ด้วย
ในฐานะ “เรือธง” แห่งยุคฟื้นฟูพลังงานนิวเคลียร์ บรรดานักอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั่วโลกต่างจับตามองโครงการที่ฟินแลนด์ด้วยความวิตก พอล แอล จอสโคว ศาสตราจารย์ทางด้านเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเส็ต (เอ็มไอที) กล่าวว่า
“บริษัทนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่งกำลังมองสถานการณ์ในฟินแลนด์ด้วยความหวาดกลัว สำหรับขนาดของการลงทุนที่มหาศาลที่นั่น”
ขณะที่มุมมองบางส่วนจากนักลงทุนในตลาดหุ้นเห็นว่า
“สัญญาณไฟเตือนกำลังสว่างโร่เสียยิ่งกว่าปีที่แล้ว สำหรับต้นทุนการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่” คือมุมมองจากคาเรน เบิร์ด ผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มพลังงานของมอร์แกน แสตนเลย์ในนิวยอร์ค
“เหยื่อสังเวย” ยุคฟื้นฟูพลังงานนิวเคลียร์
ในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานของสหรัฐได้ตกลงที่จะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่โครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ 4 เครื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการออกพระราชบัญญัตินโยบายพลังงานฉบับใหม่เมื่อปี 2548 (Energy Policy Act of 2005) ที่กำหนดให้กระทรวงพลังงานสามารถเข้าค้ำประกันเงินกู้ให้แก่โครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องใหม่ได้ กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้มีสาระสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมด้านภาษีและการค้ำประกันเงินกู้ให้แก่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ ซึ่งกลุ่ม Public Citizen องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในสหรัฐได้เสนอข้อมูลต่อสาธารณะว่า ตามกฎหมายฉบับนี้ อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ จะได้รับการอุดหนุนทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา การก่อสร้าง การดำเนินการ และการเลิกใช้งานเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ รวมแล้ว เป็นเงินถึง 13,000 ล้านดอลลาร์
ที่รัฐฟลอริดาและรัฐจอร์เจีย ในปี 2552 นี้ได้มีการปรับเพิ่มราคาค่าไฟฟ้า โดยค่าไฟส่วนหนึ่งที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายแพงขึ้นนั้นเป็นการจ่ายล่วงหน้าให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ที่มีแผนจะก่อสร้าง ก่อนที่การก่อสร้างจะเริ่มต้นขึ้นด้วยซ้ำ รัฐบาลได้อนุมัติให้บริษัท ฟลอริดา พาวเวอร์ แอนด์ ไลท์ เก็บเงินจากผู้บริโภคจำนวนนับล้านรายเพิ่มขึ้น เฉลี่ยรายละหลายดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อนำไปใช้ในการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ใหม่ 4 แห่ง ส่วนลูกค้าของบริษัทจอร์เจีย พาวเวอร์ จะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มเฉลี่ยคนละ 1.30 ดอลล่าร์ต่อเดือน ในปี 2554 และเพิ่มขึ้นเป็น 9.10 ดอลล่าร์ในปี 2560 เงินเหล่านี้จะถูกนำไปช่วยการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ 2 เครื่องที่มีแผนจะเริ่มใช้งานในปี 2559
แต่การต่อต้านก็กำลังขยายตัวขึ้น เมื่อเดือนเมษายน 2552 ฝ่ายนิติบัญญัติในรัฐมิสซูรีได้คัดค้านการขึ้นค่าไฟในลักษณะเดียวกันนี้ ทำให้หน่วยงานผลิตไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดของรัฐคือ อเมเรน ยูอี ต้องเลื่อนโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์รุ่นเดียวกันกับที่ก่อสร้างอยู่ในฟินแลนด์ออกไปอย่างฉับพลัน
ลองหันไปที่ประเทศแคนาดา เมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2552 รัฐบาลท้องถิ่นของรัฐออนทาริโอได้ประกาศยกเลิกการประมูลก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 2 เครื่องที่มีแผนจะก่อสร้างขึ้นทดแทนเตาปฏิกรณ์เครื่องเดิมที่หมดอายุของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดาร์ลิงตัน ด้วยเหตุผลในเรื่องต้นทุนที่แพงเกินไปอย่างน่าตกใจ การประมูลครั้งนี้ เป็นการแข่งขันกันระหว่างบริษัทเออีซีแอลของ แคนาดาเอง กับบริษัทอารีวา ซึ่งเสนอเตาปฏิกรณ์ EPR ขนาด 1,600 เมกะวัตต์จำนวน 2 เครื่อง ราคา 23,600 ล้านดอลลาร์แคนาดา (7,800 ล้านเป็นค่าเตาปฏิกรณ์ 2 เครื่อง และโครงสร้างอื่นๆ ทั้งหมดในโครงการอีก 15,800 ล้าน) หรือเท่ากับ 7,375 ดอลลาร์แคนาดาต่อกิโลวัตต์ ในขณะที่บริษัทเออีซีแอลยื่นข้อเสนอเป็นเตาปฏิกรณ์ CANDU รุ่นใหม่ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ 2 เครื่อง ในราคาเฉลี่ยเท่ากับ 10,800 ดอลลาร์แคนาดาต่อกิโลวัตต์ ถึงแม้ว่า บริษัทอารีวา จะเสนอราคาได้ต่ำกว่า แต่จอร์ช สมิทเธอร์แมน รัฐมนตรีพลังงานของรัฐออนทาริโอก็ต้องตัดสินใจยกเลิกการประมูล เขากล่าวว่าเป็นเพราะ “ราคาที่แพงเกินไปนั้นเป็นจำนวนถึงหลักพันล้านดอลลาร์” !!
นี่คือบางสิ่งบางอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่า โครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่ๆ อาจไม่สามารถเป็นจริงได้ ถ้าปราศจากการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐ (ซึ่งร้อยทั้งร้อยก็คือ ใช้วิธีผลักภาระให้ผู้บริโภคหรือผู้เสียภาษี)
เบื้องหลังคำโฆษณาของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่ว่าพลังงานนิวเคลียร์ราคาถูกนั้น สิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูดก็คือ ต้นทุนซ่อนเร้นจำนวนมหาศาลที่ผลักให้สาธารณะชนเป็นผู้แบกรับนั่นเอง.
ข้อมูลจาก :
- In Finland, Nuclear Renaissance Runs Into Trouble, The New York Times, 2009/05/29
- AREVA going to court over Finland nuclear reactor runaway costs, http://nuclear-news.net, 2009/09/02
- More delays at Finnish-nuclear-plant, James Kanter, http://greeninc.blogs.nytimes.com, /2009/09/02/
- The Toronto Star (Canada), 14 July 2009 - http://www.citizen.org/documents/NuclearEnergyBillFinal.pdf
- Finnish reactor provisions hit Areva profits, Financial Times, August 31, 2009
- Areva threatens work stoppage at Finnish nuke, http://www.presstv.ir, September 1, 2009
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น