Pages

12 กุมภาพันธ์ 2556

ปัญหาที่เก็บกากนิวเคลียร์รั่วไหลในประเทศเยอรมัน

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 2,พ.ค.-มิ.ย. 2551)

เมื่อปี 2551 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ Helmholtz หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดูแลสถานที่เก็บกากนิวเคลียร์ อัสเส ทู ในประเทศเยอรมัน ได้ออกมายอมรับว่ามีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีเกิดขึ้นที่สุสานกากนิวเคลียร์แห่งนี้มาตั้งแต่ ปี 2531

“อัสเส ทู” คือ เหมืองแร่โปแตชเก่าในรัฐโลเวอร์ แซกโซนี ทางตอนเหนือของเยอรมัน ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นที่เก็บกากนิวเคลียร์ ด้วยสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่า ชั้นหินเกลือมีโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ดีที่สุดในการเก็กกากนิวเคลียร์



ทว่า หลังจากที่เยอรมันเริ่มทดลองใช้เหมืองเกลือเก่าแห่งนี้เป็นที่เก็บกากนิวเคลียร์เมื่อปี พ.ศ. 2510 เพียง 21 ปีให้หลัง น้ำเค็มกัมมันตรังสีก็เริ่มรั่วซึมผ่านผนังของเหมืองอัสเส ทู แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ เพิ่งจะออกมาสารภาพกับสาธารณชนเมื่อปี พ.ศ. 2551 นี้เอง ซึ่งกลุ่มต่อต้าน นิวเคลียร์ในเยอรมันต่างรับฟังเรื่องดังกล่าวอย่างขุ่นเคือง เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่พวกเขาเตือนด้วยความเป็นห่วงมานานแล้ว แต่กลับถูกโจมตีมาตลอดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล

เยอรมันมีเหมืองร้างที่ใช้เป็นสถานที่เก็บกากนิวเคลียร์ที่เป็นของรัฐอยู่ 4 แห่ง นอกจาก อัสเส ทู แล้ว อีก 2 แห่ง คือ กอร์ลีเบน และ มอร์สลีเบน ซึ่งเป็นเหมืองเกลือร้างเช่นกัน ส่วนแห่งที่ 4 คือ Schacht Konrad เป็นเหมืองแร่เหล็กร้างซึ่งตั้งอยู่ในรัฐโลเวอร์ แซกโซนีเช่นเดียวกับเหมืองอัสเส ทู

ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ถึงความทนทานของเหมืองร้างเหล่านี้ในการเก็บกากนิวเคลียร์ซึ่งยังคงความสามารถในการแผ่กัมมันตภาพรังสีระดับเข้มข้นต่อไปอีกยาวนานนับศตวรรษ แต่กากนิวเคลียร์ที่ อัสเส ทู ก็ได้ตอบคำถามนี้แล้ว

ทุกวันนี้ ที่เหมืองร้างอัสเส ทู กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำที่ไหลเข้าสู่หลุมโพรงเหมืองอย่างไม่สามารถควบคุมได้ น้ำจำนวน 12 ลูกบาศก์เมตรต่อวันไหลอย่างต่อเนื่องเข้าสู่เหมือง และหากไม่ทำอะไร สุสานกากนิวเคลียร์แห่งนี้จะต้องจมอยู่ใต้น้ำ ดังนั้น จึงมีการบังคับน้ำให้ไหลลงสู่บ่อแร่และทำการสูบออกไป ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าน้ำดังกล่าวนั้นปนเปื้อนด้วยซีเซียม 137 สตรอนเทียม เรเดียม และพลูโตเนียม

ณ เดือนมิถุนายน 2551 สารละลายเกลือที่มีกัมมันตภาพรังสีปริมาณกว่า 80,000 ลิตรได้สะสมตัวอยู่ในเหมืองโปแตชร้างแห่งนี้ น้ำเค็มพิษเหล่านี้ซึ่งมีระดับกัมมันตภาพรังสีสูงกว่าระดับที่กฎหมายควบคุมถึง 8 เท่า ได้ถูกสูบอัดลงไปในชั้นดินที่ลึกมากขึ้น แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่รั่วไหลไปได้ทุกวันในอัตราวันละ 30 ลิตร

วูล์ฟกัง คุช นักธรณีวิทยาซึ่งเป็นที่ปรึกษาของชุมชนที่อยู่ห่างออกไปจากเหมืองไม่เกิน 10 กิโลเมตร อธิบายว่า

“ความร้อนที่แผ่ออกมาจากกากนิวเคลียร์ จะทำให้ผนังหินเกลือร้อนขึ้น ความร้อนนี้จะสร้างแรงเครียดขึ้นในโครงสร้างของเกลือ และการรั่วไหลก็จะเกิดขึ้น”

ส่วน ศาสตรจารย์เวอร์เนอร์ ชไนเดอร์ ให้ความเห็นในฐานะนักธรณีวิทยาว่า ตั้งแต่เริ่มแผนการทดลองเก็บกากนิวเคลียร์ในปี 2510 ก็มีการคาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า จะมีน้ำเค็มไหลซึมในเหมืองแห่งนี้ เพราะมีสิ่งบ่งชี้ที่ชัดแจ้งคือหลุมลึก (ทางธรณีวิทยาเรียกว่า doline) ที่ขอบของแหล่งเกลือด้านที่ไม่มีชั้นดินเหนียวที่สามารถป้องกันน้ำซึมผ่าน เขากล่าวอีกว่า อันตรายที่ใหญ่หลวงที่สุดของเหมืองเกลือใดๆ ก็คือการที่มีน้ำไหลผ่าน และหากมีกากนิวเคลียร์อยู่ในโพรงเหมือง น้ำเค็มก็จะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น ข้อมูลนี้ได้ช่วยอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ถังบรรจุกากนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งเกิดการ ผุกร่อนขึ้นแล้ว และกำลังมีเพิ่มขึ้น ศ.ชไนเดอร์ยังกล่าวประณามผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลายด้วยว่า

“การที่เรื่องนี้ถูกละเลย ถือเป็นเรื่องที่ไร้ซึ่งจริยธรรม”

ทางด้าน รอล์ฟ เบอร์แตรม ศาตราจารย์เกียรติคุณสาขาเคมีกายภาพ ได้ให้ความเห็นว่า “เมื่อน้ำเค็มเข้าไปสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี ปฏิกิริยาเคมีบางอย่างสามารถเกิดขึ้นได้” และนั่นคือที่มาของน้ำเค็มกัมมันตรังสี ที่กำลังสร้างความหวาดวิตกแก่ชาวเยอรมันจำนวนไม่น้อยในขณะนี้

ทุกวันนี้ ประชาชนที่อาศัยในชุมชนใกล้เคียงต่างกำลังวิตกกันว่า น้ำเค็มที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจะไหลซึมเข้าสู่แหล่งน้ำดื่ม ส่วนผู้ที่รณรงค์ต่อต้านนิวเคลียร์ทั่วทั้งเยอรมัน ต่างแค้นเคืองเป็น ยิ่งนักต่อสิ่งที่อุบัติขึ้นที่อัสเส ทู

“กระทรวงและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย มัวแต่เถียงกันเรื่องความรับผิดชอบ พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับอันตรายที่จะเกิดขึ้นในเรื่องนี้ แต่นี่เป็นเรื่องของพิษภัยที่สามารถเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ และพืชได้นับล้านปี”

ปีเตอร์ ดิคเกล กล่าวอย่างฉุนเฉียว เขาเป็นโฆษกของกลุ่มต่อต้านแผนการเก็บกากนิวเคลียร์ถาวรในเหมืองแร่เหล็กเก่าที่ Salzgitter ซึ่งกำลังถูกตระเตรียมเพื่อเปิดใช้เป็นสุสานกากนิวเคลียร์ ในปี 2557 ทั้งๆ ที่กลุ่มต่อต้านฯ ได้พยายามคัดค้านแผนการนี้มานับสิบปี ด้วยรายชื่อประชาชนเกือบ 300,000 คนที่เข้าร่วมขบวนการคัดค้าน

“สิ่งที่เกิดขึ้นที่อัสเส ทู สามารถเกิดขึ้นได้กับที่เก็บกากนิวเคลียร์ที่อื่นๆ ทุกแห่ง” ดิคเกลกล่าว

ระหว่างปี 2510-2521 กากนิวเคลียร์ระดับเข้มข้นจำนวน 124,494 ถัง และระดับปานกลางอีก 1,293 ถัง ได้ถูกนำมาเก็บที่ อัสเส ทู ถังบรรจุกากนิวเคลียร์มากมายเหล่านี้ถูกโยนเข้าไปทื่อๆ และชำรุดเสียหายไปเรียบร้อยแล้ว และตั้งแต่ปี 2531 ก็มีน้ำเค็มไหลซึมเข้าไปในนั้น

ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ แผนการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ Helmholtz ก็คือ การทำให้เหมืองทั้งหมดท่วมด้วย ของไหลที่มีสารป้องกันแมกนีเซียม (magnesium protective fluid) (ของไหล หมายถึงวัตถุที่ไหลได้ เช่น น้ำ และก๊าซ) เพื่อป้องกันปฏิกิริยาอันตรายระหว่างน้ำเค็มกับกากนิวเคลียร์ วิธีการนี้ถูกเรียกอย่างสละสลวยว่า “การจัดเก็บแบบเปียก” ซึ่ง “เกราะเหลว” ที่ว่านี้ จะเป็นตัวช่วยป้องกันไม่ให้ถังบรรจุกากนิวเคลียร์ถูกน้ำท่วมเร็วเกินไป

หากเหมืองแห่งนี้ถูกน้ำท่วมจริงๆ ถังบรรจุกากนิวเคลียร์เหล่านี้จะขึ้นสนิมและผุกร่อนอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในเวลาไม่กี่ปี และสารละลายเกลือที่เต็มไปด้วยรังสีจะซึมเข้าสู่พื้นดิน

สำนักงานเพื่อการป้องกันกัมมันตภาพรังสี (BfS) ของเยอรมัน ได้คำนวณหาระยะเวลาที่ของเหลวและก๊าซในเหมืองอัสเส ทู จะสามารถเล็ดลอดออกมาสู่ภายนอก ปรากฏว่า เป็นเวลานับจากนี้ไปอีก 150 ปี ที่ก๊าซกัมมันตรังสีจะกระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยระดับความเข้มข้น ที่สูงกว่าระดับที่สูงที่สุดในปัจจุบันหลายเท่าตัว

เยอรมันเป็นประเทศผู้นำในเรื่องการใช้พลังงานสะอาด ส่วนพลังงานนิวเคลียร์นั้น รัฐบาลเยอรมันได้ตัดสินใจแล้วตั้วแต่เมื่อปี 2543 ที่จะปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้หมดภายในปี 2563 แต่ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ก็คือ กากนิวเคลียร์จำนวนมหาศาลที่ยังคงหาวิธีควบคุมให้อยู่ในความปลอดภัยไม่ได้

พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เหล่านี้ถูกใช้จนหมดเกลี้ยงไปนานแล้วเมื่อหลายทศวรรษก่อน แต่กากนิวเคลียร์ที่เหลือทิ้งไว้กลับยังคงสภาพความอันตรายอยู่อย่างเป็นอมตะ และจะตามหลอกหลอนผู้คนต่อไปอีกไม่รู้กี่รุ่นต่อกี่รุ่น

นี่แหละ “เชื้อเพลิงสะอาด” ที่เทคโนแครตพลังงานในเมืองไทยอยากให้คนไทยยอมรับ.
แหล่งข้อมูล
- German leaks raise more nuclear fears, Julio Godoy, ISP 

- Nuclear worries increase as German waste dump mine floods, Diet Simon, AufpASSEn

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น