มีการอ้างว่า ผลจากการหยุดส่งก๊าซทั้งสองแหล่งจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเหลือเพียง 2%
เช่นเดียวกับปีที่แล้ว นายณอคุณ สิทธิพงษ์ ปลัดกระทรวงพลังงานได้ออกมาให้ข่าวในช่วงเดือนมีนาคมว่าจะเกิด “ภาวะวิกฤติด้านพลังงานของประเทศ” ในช่วงวันที่ 8-17 เมษายน 2555 เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองจะลดลงจาก 20% เหลือเพียง 5% จากการที่พม่าปิดซ่อมท่อส่งก๊าซ ทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติไม่สามารถใช้การได้ถึง 5,000 เมกะวัตต์
นับเป็นเรื่องแปลกที่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงเกินมาตรฐานที่เหมาะสมมาโดยตลอด แต่จู่ๆ ภาวะวิกฤติพลังงานไฟฟ้าก็เกิดขึ้นถึง 2 ปีติดต่อกัน ซึ่งเมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกันให้ดีแล้ว การเสนอข่าวที่สร้างความตกใจแก่ประชาชนครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าเคลือบแคลงอยู่หลายเรื่อง ดังนี้
1. ตัวเลขกำลังไฟฟ้าสำรองเหลือแค่ 2% มีที่มาอย่างไร ?
ณ ขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 32,600 เมกะวัตต์ ในขณะที่ กฟผ.คาดว่าการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในวันที่ 4 เมษายนนี้จะอยู่ที่ระดับ 26,500 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่ากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบมีอยู่ 6,100 เมกะวัตต์ แต่กระทรวงพลังงานอ้างว่าเมื่อก๊าซพม่าหยุดส่งจะทำให้โรงไฟฟ้าใช้การไม่ได้ประมาณ 6,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ กฟผ.เองนั้น โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซจากพม่ามีทั้งสิ้น 5 โรง รวมกำลังผลิต 6,961 เมกะวัตต์ โดยมี 3 โรงที่สามารถใช้น้ำมันเตาและดีเซลทดแทนก๊าซธรรมชาติได้รวมแล้ว 5,581 เมกะวัตต์ ดังตาราง
-->
ผลกระทบก๊าซฯ จากแหล่งตะวันตก
|
การแก้ไข
|
||
โรงไฟฟ้า
|
กำลังผลิต(เมกะวัตต์)
|
ใช้น้ำมันเตา/ดีเซล
|
หยุด
|
ราชบุรี
|
3,481
|
3,481
|
|
ราชบุรีพาวเวอร์
|
1,400
|
1,400
|
|
ไตรเอ็นเนอร์ยี
|
700
|
700
|
|
พระนครใต้
|
710
|
710
|
|
พระนครเหนือ
|
670
|
670
|
|
รวม
|
6,961
|
5,581
|
1,380
|
(ที่มา :
กฟผ.)
ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงจะทำให้กำลังผลิตหายไปจากระบบเพียง 1,380 เมกะวัตต์เท่านั้น ไม่ใช่ 6,000 เมกะวัตต์ และกำลังไฟฟ้าสำรองในวันที่ 4 เมษายนจะยังคงมีอยู่ถึง 4,720 เมกะวัตต์หรือ 18% ไม่ใช่ 2%
2. ท่อก๊าซไทย-มาเลเซียไม่ได้มีปัญหา
สำหรับภาคใต้ที่ถูกระบุว่าอาจเกิดปัญหาไฟดับนั้น มาจากโรงไฟฟ้าจะนะที่จะต้องหยุดเดินเครื่องเพราะท่อก๊าซไทย-มาเลเซียต้องปิดซ่อม แต่แล้วก็มีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ (20 กุมภาพันธ์ 2556) ว่า “ท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทิ้งสมอเรือ เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะนี้ได้ซ่อมบำรุงเสร็จเรียบร้อยและเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว” สรุปว่าไม่มีปัญหา ซึ่งที่จริงเรื่องนี้นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติได้เปิดเผยในรายการคมชัดลึก เนชั่นทีวีว่า ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2555 และการซ่อมแซมท่อก๊าซไทย-มาเลเซียดำเนินการเสร็จไปตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์แล้ว เรื่องนี้ควรได้รับการตรวจสอบ เพราะถ้าเป็นจริงก็ต้องถือว่ากระทรวงพลังงานเจตนาให้ข้อมูลเท็จต่อสาธารณะ
3. ไม่ใช่ “พม่า” แต่เป็น “ปตท.” ที่ทำให้เกิดปัญหา
ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องพลังงานต่างทราบกันดีว่า หน้าร้อน โดยเฉพาะเดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดของปี ซึ่งโรงไฟฟ้าสำรองในระบบจะต้องถูกเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าที่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่การหยุดซ่อมท่อก๊าซพม่าถูกกำหนดไว้ในเดือนเมษายนมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว และเป็นเหตุให้เกิดกระแสข่าวที่น่าวิตกเกี่ยวกับวิกฤติไฟฟ้าทั้งสองครั้ง
การซ่อมท่อก๊าซพม่าครั้งนี้และปีที่แล้ว ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะท่อก๊าซขัดข้องหรือเกิดอุบัติเหตุ แต่เป็นสิ่งที่มีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะดำเนินการในช่วงเวลาใด โดยเฉพาะในกรณีของปีที่แล้ว เป็นการหยุดเพื่อ “ปรับปรุงประสิทธิภาพ” ให้ท่อก๊าซมีกำลังการส่งเพิ่มขึ้น ไม่ใช่ท่อก๊าซเกิดชำรุดจนต้องซ่อมแซมอย่างปัจจุบันทันด่วนแต่อย่างใด คำถามก็คือ เหตุใดจึงต้องหยุดส่งก๊าซในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ?
เรื่องนี้มีความสำคัญมาก จากกราฟของ กฟผ. ด้านล่างที่แสดงถึงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละเดือนของปี 2555 จะเห็นได้ว่า การใช้ไฟฟ้าในเดือนอื่นๆ ต่างก็มีระดับที่ต่ำกว่าเดือนเมษายนอย่างน้อย 1,000 เมกะวัตต์ หากการปรับปรุงท่อก๊าซถุกกำหนดไว้ในเดือนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เดือนเมษายน “สถานการณ์วิกฤติไฟฟ้า” ก็จะไม่เกิดขึ้น
ผู้ร่วมทุนขุดเจาะก๊าซพม่า
|
สัดส่วนทุน
|
แหล่งยาดานา
|
|
โททาล อี แอนด์ พี เมียนมาร์
|
31.24%
|
ยูโนแคลเมียนมาร์ ออฟชอร์ (UMOL)
|
28.26%
|
ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล
จำกัด
|
25.5%
|
Myanmar Oil and Gas Enterprise
|
15%
|
แหล่งเยตากุน
|
|
Petronas Carigali Myanmar (Hong
Kong) Ltd.
|
40.91%
|
เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ซ
เอ็นเตอร์ไพรส์
|
20.45%
|
ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล
จำกัด (ปตท.สผ.อ.)
|
19.32%
|
Nippon Oil Exploration (Myanmar)
Limited
|
19.32%
|
สิ่งที่ไม่สามารถเข้าใจได้ก็คือ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น 2 ปีติดต่อกัน จนดูเหมือนเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วที่กระทรวงพลังงานแสดงความวิตกว่าเป็นภาวะวิกฤติร้ายแรงนั้น ไม่ได้ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายคิดหาวิธีป้องกันปัญหาที่จะเกิดซ้ำสองเลย
4. ความรับผิดชอบของ ปตท.อยู่ตรงไหน
ทุกครั้งที่เกิดปัญหาท่อก๊าซสะดุด ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอะไร ผู้ที่ต้องรับภาระก็คือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นจากการที่ กฟผ.ต้องใช้น้ำมันเตาและดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทดแทน
หรือแม้กระทั่งชาวบ้านต้องเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเช่นกรณีเหตุการณ์ปี พ.ศ. 2552 ที่แหล่งก๊าซยาดานาของพม่าหยุดจ่ายก๊าซทำให้ กฟผ.ต้องเปิดเขื่อนศรีนครินทร์เต็มกำลังผลิตจนเกิดปัญหาน้ำท่วมชาวบ้านที่ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น แต่ ปตท.ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดหาก๊าซไม่เคยต้องร่วมรับผิดชอบภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเลย ทำให้เกิดคำถามว่า สัญญาซื้อขายก๊าซเป็นสัญญาที่ยุติธรรมหรือไม่ กล่าวคือ ในส่วนของผู้ซื้อก๊าซ (กฟผ.) จะมีเงื่อนไขเรื่องค่า take or pay คือหากไม่สามารถรับก๊าซได้ตามสัญญา จะต้องจ่ายค่าก๊าซตามจำนวนที่สัญญาว่าจะรับซื้อ ซึ่งปัญหานี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่โรงไฟฟ้าราชบุรีก่อสร้างเสร็จล่าช้า กฟผ.ต้องจ่ายค่าก๊าซที่ยังไม่ได้ใช้ แต่ในทางกลับกัน ในกรณีที่ผู้ขายก๊าซไม่สามารถส่งก๊าซได้ ผู้ขายไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ผู้ซื้อไปหาเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนเอง ลักษณะที่ไม่เป็นธรรมนี้เหมือนกันทั้งก๊าซพม่าและอ่าวไทย ซึ่ง ปตท.เป็นผู้ผูกขาดการจัดหาทั้งหมด หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ผู้ใช้ไฟก็ต้องแบกรับค่าเอฟทีที่เกิดจากการวางแผนปิดซ่อมท่อก๊าซในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมไปตลอด ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาจาก ปตท.
ถึงที่สุดแล้ว วิกฤติไฟฟ้าครั้งนี้ไม่ใด้ถึงขั้นวิกฤติจริง และโอกาสที่จะเกิดไฟดับนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยก็ว่าได้ เพราะระดับกำลังไฟฟ้าสำรองยังคงอยู่ในมาตรฐานคือไม่ต่ำกว่า 15% (ถ้ายังปล่อยให้เกิดไฟดับได้ เห็นทีคงต้องปลดรัฐมนตรีพลังงานและผู้ว่าการ กฟผ.เป็นอันดับแรก)
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือความวิตกกังวลไปทั่วทุกวงการว่า ระบบไฟฟ้าของเรากำลังอยู่ในภาวะไม่มั่นคง ซึ่งผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องทั้งหลายต่างก็ประสานเสียงกันกล่าวว่าสาเหตุเป็นเพราะประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป และทางออกก็คือการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง ซึ่งข้อเสนอหลักก็คือต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ในการให้สัมภาษณ์กับ “ประชาชาติธุรกิจ” (20 กุมภาพันธ์ 2556) นายรัตนชัย นามวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับโครงการพลังงานนิวเคลียร์ว่า
“ตกลงจะเอาไฟดับหรือจะเอาไฟแพง ตรงนี้จะกลายเป็นวิกฤตพลังงานของประเทศไทย เราจึงต้องนำเสนอนิวเคลียร์เพราะเราไม่มีพลังงานใช้ในอนาคต”
ในฐานะผู้บริโภค เราคงต้องตอบว่า ไม่เอาทั้งไฟดับและไฟแพง แล้วก็อย่ามาถามในตอนนี้ว่าจะเอานิวเคลียร์ไหม เพราะสิ่งที่เราต้องการก่อนอื่นใดก็คือ ระบบการบริหารไฟฟ้าที่โปร่งใสซื่อตรง และมีความรับผิดชอบต่อผู้ใช้ไฟ ไม่ใช่ระบบที่ให้ข้อมูลเท็จ สร้างความแตกตื่นแก่สังคมจนเกินเหตุเพื่อเป้าหมายซ่อนเร้นอะไรก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น