14 กุมภาพันธ์ 2556

“เซ็ตซูเด็น” ประหยัดไฟ เปลี่ยนญี่ปุ่น

(เผยแพร่ครั้งแรก :  www.tcijthai.com, 26 เมษายน 2555)
 
“เซ็ตซูเด็น” คือคำภาษาญี่ปุ่น แปลว่า “ประหยัดไฟฟ้า” คำๆ นี้มีความหมายอย่างมากสำหรับญี่ปุ่นในช่วงฤดูร้อนปีที่แล้ว ท่ามกลางการกอบกู้ประเทศจากโศกนาฏกรรมแผ่นดินไหว สึนามิ และวิกฤติการณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้


หลังอุบัติเหตุฟูกูชิมะ รัฐบาลได้สั่งให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทุกโรงทำการ stress test หรือประเมินระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในการรับมือภัยธรรมชาติร้ายแรง ทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นต้องทยอยกันหยุดเดินเครื่องเรื่อยมาจนถึงขณะนี้ และยังไม่มีเตาปฏิกรณ์เครื่องใดที่ถูกปิดแล้วกลับมาเดินเครื่องใหม่ได้เลยในขณะนี้ เพราะกระแสคัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ของประชาชนในญี่ปุ่น

ก่อนวิกฤติการณ์ฟูกูชิมะเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ญี่ปุ่นใช้ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ร้อยละ 30 ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ แต่ ณ เดือนมกราคม 2555 พลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.3 โดยมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียง 2 เครื่องจากทั้งหมด 54 เครื่องที่ยังเดินเครื่องอยู่ และวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา บริษัทโตเกียว อิเลคตริค พาวเวอร์ หรือ TEPCO เจ้าของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะอันลือลั่นก็ได้ปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องที่ 17 ของตนที่ยังเดินเครื่องอยู่เพียงเครื่องเดียวเพื่อตรวจประเมินความปลอดภัย ทำให้ขณะนี้(เมษายน 2555) ญี่ปุ่นมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าอยู่เพียง 1 เครื่อง และมันก็จะถูกปิดเพื่อทำการ stress test เช่นกันในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ เท่ากับว่าประเทศญี่ปุ่นกำลังจะปลอดจากการใช้พลังงานนิวเคลียร์(ชั่วคราว)เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี

การใช้ไฟฟ้าสูงสุดของญี่ปุ่นเกิดขึ้นในฤดูร้อนเช่นเดียวกับไทย แต่ของญี่ปุ่นจะอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ซึ่งในปีที่แล้วมีความวิตกกันมากว่าจะเกิดปัญหาไฟดับ หรือระบบไฟฟ้าล่ม (blackout) เพราะขณะนั้นมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพียง 16 จากทั้งหมด 54 เครื่องที่ยังดำเนินการผลิตไฟฟ้าอยู่ ญี่ปุ่นต้องนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อผลิตไฟฟ้า กล่าวได้ว่าสถานการณ์อยู่ในขั้นวิกฤติจนอาจต้องใช้วิธีผลัดเปลี่ยนกันหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า (rolling blackouts) ตามย่านต่างๆ ในเขตคันโตและโตโฮกุ ดังเช่นที่เคยทำตอนหลังจากเกิดสึนามิใหม่ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็ผ่านพ้นหน้าร้อนปี 2554 มาได้โดยไม่ต้อง rolling blackout โดยที่พระเอกตัวจริงของเขาไม่ใช่เชื้อเพลิงถ่านหินหรือปิโตรเลียม แต่เป็น “เซ็ตซูเด็น” หรือการรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าทั่วประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเรื่องเซ็ตซูเด็นเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดไฟฟ้าให้ได้ 15% จากการใช้ปกติในระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 22 กันยายน 2554 มาตรการต่างๆ ถูกนำมาใช้อย่างหลากหลาย นับตั้งแต่การเพิ่มอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศ การลดความสะดวกสบายที่ต้องพึ่งพาไฟฟ้า (บันไดเลื่อน ตู้เครื่องดื่มหยอดเหรียญ ฯลฯ) การเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอด LED แม้กระทั่งการเปลี่ยนเครื่องแบบชุดทำงานเป็นแบบลำลองเพื่อไม่ต้องใช้แอร์มาก

ด้วยความร่วมมือกันอย่างแข็งขันของชาวญี่ปุ่น ทำให้การรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าครั้งนี้สามารถลดความต้องการไฟฟ้าในช่วง peak load ในเขตให้บริการของบริษัท TEPCO ได้ถึง 10,800 เมกะวัตต์ คือจาก 60,000 เมกะวัตต์ในปี 2553 เหลือ 49,220 เมกะวัตต์ในปี 2554 (ความต้องการไฟฟ้าทั้งประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 178,000 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2553) และสำหรับเป้าหมายในการประหยัดพลังงานไฟฟ้าซึ่งรัฐบาลตั้งไว้ที่ 15% ปรากฏว่า ในเขตให้บริการของ TEPCO สามารถลดได้ถึง 21.9% และเขตให้บริการของบริษัทโตโฮกุ อิเลคตริค พาวเวอร์ สามารถลดได้ถึง 21.3%

ปฏิบัติการ “เซ็ตซูเด็น” มิใช้แค่เพียงการช่วยกัน “ประหยัด” ไฟฟ้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการต่างๆ มากมายของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมเพื่อเคลื่อนย้ายการใช้ไฟฟ้าบางส่วนออกจากช่วงเวลา peak load ไปอยู่ในช่วงเวลาที่ความต้องการไฟฟ้าไม่สูงมาก ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตรถยนต์เปลี่ยนวันหยุดจากวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นวันพฤหัส-ศุกร์ บริษัทห้างร้านบางส่วนเปิดทำการเร็วขึ้น 1 ชั่วโมง โรงเรียนกวดวิชาลดเวลาการสอนในชั่วโมงกลางวันโดยเพิ่มชั่วโมงสอนช่วงเช้า เป็นต้น วิธีการเหล่านี้ไม่ได้เป็นการประหยัดไฟฟ้าเพราะการใช้ไฟฟ้ายังมีอยู่เท่าเดิม แต่มันเป็นการ “ประหยัดโรงไฟฟ้า” ที่จะต้องใช้ในช่วง peak load ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หรืออาจจะสำคัญมากกว่าการประหยัดไฟฟ้าด้วยซ้ำในสถานการณ์ที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองในระบบอยู่น้อย

นอกจากเขตคันโตและโตโฮกุซึ่งเป็นเขตที่ระบบไฟฟ้าได้รับผลกระทบจากสึนามิและอุบัติเหตุฟูกูชิมะแล้ว ในพื้นที่อีก 6 เขตที่เหลือของญี่ปุ่นก็มีการรณรงค์ประหยัดไฟฟ้าด้วยเช่นกัน จากข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น การลดความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในหน้าร้อนปีที่แล้วสามารถลดการใช้โรงไฟฟ้าทั้งประเทศได้รวมกันถึง 19,000 เมกะวัตต์[1] เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รุ่นใหม่ 19 โรง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมาก แต่ที่น่าสนใจมากอีกอย่างก็คือสิ่งที่ เรียว มัตซูโมโตะ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า การประหยัดไฟฟ้าไม่ใช่แค่การฝ่าวิกฤติในหน้าร้อน แต่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของชาวญี่ปุ่น[2]

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยมาก แม้แต่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ซึ่งเดินทางไปเยือนญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1922 ยังบ่นถึงเรื่องนี้ นั่นคือสภาพเมื่อ 90 ปีมาแล้ว ในปีที่แล้วผมได้เดินทางไปญี่ปุ่นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมซึ่งเป็นช่วงที่กำลังประหยัดไฟฟ้าพอดี ผมไปใน 4 จังหวัดรวมทั้งโตเกียวและฟูกูชิมะ สิ่งที่ได้เห็นก็คือวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นทั่วไปไม่ได้เดือดร้อนอะไรนักกับการต้องช่วยกันประหยัดไฟฟ้า แสงสียามค่ำคืนของโตเกียวยังคงละลานตาจนผมอยากบ่นเหมือนไอน์สไตน์

ในสังคมบริโภคนิยมแบบญี่ปุ่น การใช้ไฟฟ้าเพื่อความสะดวกสบายจนดูออกจะเวอร์เกินไปเป็นสิ่งที่พบได้มากมาย ยกตัวอย่างเช่นชักโครกไฟฟ้าที่มีใช้กันถึง 70% ของบ้านเรือนในญี่ปุ่น ซึ่งจะมีที่รองนั่งที่อุ่นจากพลังงานไฟฟ้า และเพียงแค่กดปุ่ม พลังงานไฟฟ้าก็จะช่วยฉีดน้ำอุ่นล้างก้นให้คุณเรียบร้อยเสร็จสรรพ มีการคำนวณว่า ชักโครกไฟฟ้าเหล่านี้ใช้ไฟฟ้าถึง 3.9% ของการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัยของญี่ปุ่น สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูเหมือนไม่สลักสำคัญอะไรเช่นการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายไว้ที่โหมด standby โดยไม่ได้ถอดปลั๊ก ก็มีการคำนวณว่ามันจะกินไฟฟ้าคิดเป็น 6% ของการใช้ไฟฟ้าในภาคที่อยู่อาศัย[3] ซึ่งเป็นภาคที่ใช้ไฟฟ้าประมาณ 30% ของทั้งหมด ดังนั้น สมมติว่าเพียงแค่ลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าใน 2 อย่างนี้ได้ทั้งหมด ญี่ปุ่นก็จะประหยัดไฟฟ้าไปได้ถึง 3% ของทั้งประเทศ จากตัวอย่างนี้เราจะเห็นได้ว่า ที่จริงแล้วมีวิธีการมากมายที่จะประหยัดไฟฟ้าลงได้มากโดยไม่ได้มีผลกระทบทำให้วิถีชีวิตลำบากมากขึ้นเลย

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดรวมกำลังผลิตถึง 49,000 เมกะวัตต์จะหายไปจากระบบไฟฟ้าของญี่ปุ่น (= 2 เท่าของความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทย) นับเป็นวิกฤติพลังงานไฟฟ้าที่หนักหนาสาหัสไม่น้อย แต่กระนั้น ยูกิโอะ เอดาโนะ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมก็ยังให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ในฤดูร้อนปีนี้ ญี่ปุ่นจะสามารถรอดพ้นจากการขาดแคลนไฟฟ้าได้ แม้จะไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เดินเครื่องอยู่เลยก็ตาม[4]

สำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม แน่นอนว่าเซ็ตซูเด็นย่อมมีผลกระทบมากบ้างน้อยบ้างต่างกันไปตามสภาพกิจการ แต่นักธุรกิจญี่ปุ่นก็ไม่ได้ต้องการให้รัฐบาลรีบอนุมัติให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาเดินเครื่องได้ใหม่โดยเร็ว จากการสำรวจความเห็นของรอยเตอร์เมื่อเร็วๆ นี้ เกือบ 3 ใน 4 ของบริษัทในญี่ปุ่นต้องการเห็นหลักประกันที่แน่ใจได้ในเรื่องความปลอดภัยก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาเดินเครื่องได้ใหม่ โดยไม่อยากให้รัฐบาลเร่งรีบอนุมัติ แม้ว่าธุรกิจอาจจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนไฟฟ้าก็ตาม[5]

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว “สมาคมสมาร์ตเซ็ดซูเด็น” (Smart Setsuden Association) ได้ถูกก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือกันของ TEPCO และกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ใช้ไฟฟ้าอีก 9 สาขา เพื่อศึกษาพัฒนาการประหยัดไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในหน้าร้อนปีนี้[6]

ความชัดเจนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ในญี่ปุ่นจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว จากการสำรวจความเห็นของทุกสำนัก ชาวญี่ปุ่นมากกว่า 50% ต้องการให้เลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ แม้แต่โรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่ การสำรวจความเห็นของหนังสือพิมพ์นิคเคอิเมื่อ 23 เมษายนที่ผ่านมาก็พบว่า ประชาชน 54% ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะนำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกปิดเพื่อตรวจสอบอยู่กลับมาใช้อีก มีเพียงประชาชน 30% ที่เห็นด้วย ซึ่งน่าสนใจว่า ผลสำรวจเช่นนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะวิกฤติพลังงานไฟฟ้าครั้งใหญ่ของประเทศ

ความเปลี่ยนแปลงสำคัญกำลังเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น พวกเขากำลังแก้นิสัยไม่ดีของตัวเองที่เคยใช้ไฟฟ้ากันอย่างไม่ยั้งคิด เพื่อไปสู่การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและหลีกเลี่ยงที่จะต้องพึ่งพาพลังงานอันตรายอย่างนิวเคลียร์ นับเป็นแบบอย่างที่ดีที่ทุกประเทศควรเอาอย่าง

ย้อนมาดูประเทศไทย ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้แถลงว่าเกิด “ภาวะวิกฤติด้านพลังงานของประเทศ” จากการที่พม่าหยุดส่งก๊าซ จนต้องมีการรณรงค์ดับไฟในช่วงบ่ายเมื่อวันที่ 10 เมษายน แต่กลับเป็นเรื่องตลกร้าย เพราะ 2 สัปดาห์ต่อมา หนังสือพิมพ์ก็พาดหัวข่าวว่า “ทุบสถิติครั้งที่ 5 ในรอบปี ใช้ไฟฟ้าพีคสุด 25,551 เมกะวัตต์” (ASTVผู้จัดการออนไลน์, 24 เมษายน 2555)

หลังจากนี้ เราก็จะมาทะเลาะกันต่อเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ถ่านหิน ส่วนกรุงเทพมหานครก็ยังคงเผาผลาญพลังงานไฟฟ้ามากกว่าภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสานรวมกันต่อไปเหมือนเดิม... ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงสำหรับประเทศไทย

อ้างอิง
[1] Summary of Electricity Supply-Demand Measures in Summer Time, September 7, 2011, METI, http://www.meti.go.jp/english/press/2011/pdf/0907_01d.pdf
[2] Japan promotes 'Super Cool Biz' energy saving campaign, http://www.bbc.co.uk/news/business-13620900
[3] Setsuden, http://www.japantimes.co.jp/text/ek20110421wh.html
[4] http://www.reuters.com/article/2012/01/27/japan-nuclear-reactors-idUSL4E8CR0H620120127
[5] Japan's Kansai Elec sees summer shortfall without reactors, http://www.reuters.com/article/2012/04/23/japan-nuclear-summer-idUSL3E8FN5RL20120423
[6] Press Release (Feb 01,2012), http://www.tepco.co.jp/en/press/corp-com/release/12020108-e.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น