Pages

14 กุมภาพันธ์ 2556

สถานการณ์นิวเคลียร์รอบโลก หลังอุบัติเหตุฟูกูชิมะ

(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 16, ก.ค.-ส.ค. 2555)

ภายใต้ปัญหาวิกฤตการณ์โลกร้อนในหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ที่จะชักจูงสังคมโลกให้หันกลับมาใช้ พลังงานนิวเคลียร์เกิดขึ้นขนานใหญ่ภายใต้คำขวัญรณรงค์ “Nuclear Renaissance” หรือ “ยุคฟื้นฟูของพลังงานนิวเคลียร์” ที่ถูกอ้างว่าจะเป็นคำตอบของความมั่นคงพลังงานท่ามกลางวิกฤติการณ์การ เปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลก

อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ สิ่งที่สามารถบ่งชี้ได้ว่าพลังงานนิวเคลียร์กำลังกลับมาได้รับความนิยมอีก ครั้งก็ยังไม่มีปรากฏให้เห็น

โดย เฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิ มะเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ที่ผ่านมา ความฝันถึงยุคฟื้นฟูพลังงานนิวเคลียร์ก็ดูจะยิ่งห่างไกลจากความเป็นจริงออก ไปมากขึ้นเรื่อยๆ

สถานการณ์ในยุโรป

หลังวิกฤติการณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เยอรมันเป็นประเทศแรกที่แสดงท่าทีชัดเจนที่สุดที่จะหันหลังให้กับพลังงาน นิวเคลียร์ โดยในเดือนพฤษภาคม 2554 เยอรมันได้จบข้อถกเถียงภายในประเทศที่ว่าควรจะยืดอายุการใช้งานโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ของเยอรมันออกไปอีกหรือไม่ ด้วยการประกาศนโยบายเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ให้หมดภายในปี พ.ศ.2565 และอีกหนึ่งเดือนถัดมา รัฐบาลเยอรมันก็สั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 8 เครื่องจากทั้งหมด 17 เครื่องที่มีอยู่ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ เยอรมันยังได้ประกาศนโยบายใหม่ที่เรียกว่า “Germany’s Energy Transition” หรือ “การเปลี่ยนผ่านพลังงานของเยอรมัน” ซึ่งหมายถึงการกำหนดเป้าหมายของประเทศที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและ ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงให้ได้ถึง 80% ภายในปี 2050

ที่อิตาลี ความพยายามของประธานาธิบดีซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ ที่จะรื้อฟื้นโครงการนิวเคลียร์ที่ถูกระงับไปเมื่อปี พ.ศ.2530 กลับมาใหม่ ต้องล้มเลิกไปในเดือนมิถุนายน 2554 เมื่อมีการจัดลงประชามติทั่วประเทศ ผลปรากฎว่า ชาวอิตาลี 94% สนับสนุนให้หยุดการหันกลับไปหาพลังงานนิวเคลียร์ แม้ว่าก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้พยายามชี้ว่า อิตาลีมีความจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ประมาณ 20% ในปี พ.ศ. 2563 ก็ตาม

เบลเยียม คือประเทศถัดมาที่บอกเลิกกับพลังงานนิวเคลียร์ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เบลเยียมได้ออกกฎหมายกำหนดให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีอยู่ 7 เครื่องในประเทศ มีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 40 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2554 รัฐบาลเบลเยียมได้ยืนยันนโยบายดังกล่าวอีกครั้ง โดยตัดสินใจที่จะให้ปิดเตาปฏิกรณ์ 3 เครื่องที่เก่าที่สุดใน 3 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2558) และเตาปฏิกรณ์เครื่องสุดท้ายของประเทศจะต้องถูกปิดในปี พ.ศ.2568

ที่สวิตเซอร์แลนด์ เดือนพฤษภาคม 2554 หลังอุบัติเหตุฟูกูชิมะ 2 เดือน มีการรณรงค์คัดค้านพลังงานนิวเคลียร์ของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศใน รอบ 25 ปี และหลายวันต่อมา รัฐบาลก็ได้มีมติห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องใหม่ ขึ้นในประเทศอีก ขณะนี้สวิตเซอร์แลนด์มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ใช้งานอยู่ทั้งสิ้น 5 เครื่อง คิดเป็นสัดส่วน 40% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ เตาปฏิกรณ์เหล่านี้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานต่อไปได้จนครบอายุใช้งาน ซึ่งเครื่องสุดท้ายจะหมดอายุลงในปี พ.ศ.2577 หลังจากนั้น สวิตเซอร์แลนด์ก็จะเป็นประเทศที่ปลอดจากพลังงานนิวเคลียร์

นอกจากการตัดสินใจระดับชาติที่จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์แล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา ในยุโรปยังมีโครงการนิวเคลียร์ที่ต้องพบกับอุปสรรคในอีก 4 ประเทศ เริ่มตั้งแต่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือนมกราคม บริษัท Delta NV ตัดสินใจเลื่อนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,650-2,500 เมกะวัตต์ออกไป 2-3 ปี โดยอ้างว่าสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ทำให้ลงทุนได้ยาก แต่ที่จริงอาจจะเป็นเพราะว่าต้นทุนโครงการนี้แพงมาก เนื่องจากรัฐบาลจะไม่ให้การอุดหนุนทางการเงินแก่โครงการนี้ โดยนายแม็กซิม เวอร์ฮาเกน รัฐมนตรีกระทรวงการเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า “มันขึ้นอยู่กับบริษัทพลังงานที่จะตัดสินใจลงทุน ส่วนรัฐบาลจะไม่เอาภาษีของประชาชนไปก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์”

ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ที่ประเทศโปแลนด์ซึ่งมีแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกของประเทศ ได้มีการจัดลงคะแนนเสียงประชามติของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นเป้า หมายในการก่อสร้างโครงการ และปรากฎผลออกมาว่าเสียงประชามติ 94% คัดค้านโครงการดังกล่าว

ส่วนที่ประเทศบูลแกเรีย เมื่อเดือนมีนาคม 2555 ที่ผ่านมาได้มีการตัดสินใจยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงที่ 2 ของประเทศที่ Belene ที่มีเป้าหมายจะนำมาใช้ทดแทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงเดิมที่มีอยู่เพียงแห่ง เดียว (โรงไฟฟ้า Kozloduy) และจะต้องถูกปิดไปตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรปในการยอมรับบูลแกเรียเข้าเป็น สมาชิก โรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัทจากรัสเซียให้เป็นผู้ก่อสร้าง แต่ด้วยปัญหาต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกการก่อสร้างไปในที่สุด อย่างไรก็ตาม บูลแกเรียต้องเสียเงินไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้แก่รัสเซียที่ได้ก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เตรียมนำมาติดตั้งในโครงการไว้แล้ว

สำหรับรัสเซียเอง บริษัทนิวเคลียร์ Rosatom ซึ่งรัฐบาลรัสเซียเป็นเจ้าของได้ประกาศยกเลิกการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ Kursk-5 เนื่องจากเตาปฏิกรณ์เครื่องนี้มีการออกแบบที่คล้ายคลึงกับเตาปฏิกรณ์ นิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะ

สหรัฐอเมริกา

แม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศที่มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากที่สุดเป็นอันดับ หนึ่งของโลก แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา นับเป็นเวลากว่า 34 ปีมาแล้วที่สหรัฐไม่มีการอนุมัติใบอนุญาตก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เครื่องใหม่เลย แต่รัฐบาลสหรัฐตั้งแต่สมัยจอร์จ บุช มาจนถึงโอบาม่าก็ได้พยายามฟื้นฟูอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ด้วยการออกกฏหมาย พลังงานฉบับใหม่เพื่อใช้เงินภาษีในการอุดหนุนกิจการนิวเคลียร์

และแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ คณะกรรมการกำกับนิวเคลียร์สหรัฐก็ได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างเตาปฏิกรณ์เครื่อง แรกในรอบ 34 ปีในสหรัฐ ซึ่งจะก่อสร้างจำนวน 2 เครื่องที่โรงไฟฟ้าว็อคเทิล ในรัฐจอร์เจีย แต่โครงการนี้จะสามารถก่อสร้างได้สำเร็จหรือไม่ยังต้องคอยดูกัน เพราะมีตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าวัตตส์ บาร์ หน่วยที่ 2 ในรัฐเทนเนสซี่ที่ได้รับใบอนุญาตและเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 แต่ขณะนี้ 40 ปีผ่านไปแล้วก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ

เมื่อปีที่แล้ว บริษัท NRG Energy ก็ได้ยกเลิกโครงการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์รุ่นใหม่ 2 เครื่องที่เซาธ์ เท็กซัส เพราะความไม่แน่นอนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทฯ ได้เสียเงินในการพัฒนาโครงการนี้ไปแล้ว 481 ล้านเหรียญ

“ยุคฟื้นฟูของพลังงานนิวเคลียร์” ในสหรัฐอเมริกาก็เป็นเช่นเดียวกับยุโรปที่ดูจะเป็นความฝันที่ห่างไกลจากความ จริง เมื่อเร็วนี้ จอห์น โรว์ อดีตซีอีโอของบริษัท Exelon บริษัทนิวเคลียร์ยักษ์ใหญ่อับดับหนึ่งของอเมริกาที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 22 โรง ได้กล่าวว่า

“ผมขอพูดตรงๆ ว่า ผมไม่เคยเจอโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงไหนที่ผมไม่ชอบเลย และเมื่อพูดอย่างนี้แล้ว ผมก็ขอพูดให้ชัดๆ ด้วยว่า ขณะนี้ไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โรงใหม่โรงไหนเลยที่มีเหตุผลสมควรจะทำ”

บริษัทนิวเคลียร์กำลังตกต่ำ

ความไร้อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ สะท้อนออกมาให้เห็นจากสถานะภาพของอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ในขณะนี้

เมื่อเดือนมีนาคม 2555 บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ 2 แห่งในยุโรปคือ RWE และ E.On จากประเทศเยอรมัน ได้ตัดสินใจถอนตัวจากการรับงานก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรงในประเทศอังกฤษ ด้วยปัญหาเกี่ยวกับการเงิน ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา บริษัท RWE ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อันดับสองของเยอรมันยังได้ประกาศว่า บริษัทฯ จะไม่มีการลงทุนในโครงการนิวเคลียร์อีกต่อไป แต่จะหันไปที่การลงทุนกับโซล่าร์เซลล์ ทั้งในประเทศเยอรมันเองและที่อื่นๆ ของโลกด้วย

ก่อนหน้านี้ หลังจากอุบัติเหตุที่ฟูกูชิมะได้ไม่นาน บริษัทซีเมนส์ - ยักษ์ใหญ่อีกเจ้าหนึ่งของเยอรมันก็ประกาศว่าจะเลิกทำธุรกิจนิวเคลียร์เช่น กัน

ในขณะนี้ ธุรกิจของบริษัทนิวเคลียร์ยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่งกำลังมีฐานะที่ไม่สู้ดี นัก ตัวอย่างเช่นบริษัท Enel ของอิตาลี ขณะนี้มีหนี้สินมากถึง 44,900 ล้านยูโร และบริษัท EDF ของรัฐบาลฝรั่งเศสก็มีหนี้สินสูงถึง 33,300 ล้านยูโร ส่วนบริษัท Areva - ยักษ์ใหญ่นิวเคลียร์อีกเจ้าของฝรั่งเศสก็มีรายได้ลดลงถึง 2,400 ล้านยูโรเมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่บริษัทมิตซูบิชิ - ยักษ์ใหญ่นิวเคลียร์ของญี่ปุ่นก็กำลังขอซื้อบริษัทกังหันลม Vestas ของเดนมาร์ค เพื่อหันไปลงทุนในพลังงานลม

อุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมะได้ส่งผลต่ออุตสาหกรรมนิวเคลียร์ทั่วโลกที่จะ ต้องปรับปรุงยกระดับความปลอดภัยของเทคโนโลยีให้สูงขึ้น ซึ่งมันหมายถึงต้นทุนพลังงานนิวเคลียร์ที่ต้องสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว และนี่คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พลังงานนิวเคลียร์ไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาด จนในที่สุด อาจทำให้บริษัทพลังงานอีกหลายแห่งต้องยุบทิ้งแผนกนิวเคลียร์ของตัวเองเช่น เดียวกับ RWE และซีเมนส์

กล่าวโดยสรุปแล้ว “ยุคฟื้นฟูของพลังงานนิวเคลียร์” ถือเป็นความฝันที่ยังไม่มีทางเป็นจริงได้ในอนาคตอันใกล้นี้ และอาจจะไม่มีวันเป็นจริงเลยตลอดกาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น