Pages

14 กุมภาพันธ์ 2556

รายงานสถานการณ์ 5 เดือนหลังอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ

การประท้วงที่เมืองฟูกูชิมะ, 31 ก.ค. 2554
(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 13, มิ.ย.-.ค. 2554)

นับจากเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เมื่อเดือนมีนาคม 2554 เป็นเวลา 5 เดือนมาแล้วที่กัมมันตภาพรังสียังคงรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมทั้งทางน้ำและ อากาศอย่างไม่สามารถหยุดยั้งได้ โดยบริษัท TEPCO แถลงว่าอาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 9 เดือนจึงจะสามารถจัดการเตาปฏิกรณ์ที่เสียหายทั้ง 4 เครื่องให้อยู่ในการควบคุม ปริมาณของรังสีที่รั่วไหลไม่มีการเปิดเผยจากรัฐบาล โดยข้อมูลจากภาคประชาชนญี่ปุ่นที่มีการจัดตั้งกลุ่มติดตามปัญหาเรื่องนี้ ระบุว่า กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลอยู่ในขณะนี้ อยู่ในระดับ 1,000 ล้านเบคเคอเรล/ชั่วโมง ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก และเป็นที่วิตกกังวลของชาวเมืองฟูกูชิมะ


วันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ที่ใจกลางเมืองฟูกูชิมะ (Fukushima City) ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ประมาณ 60 กิโลเมตร ประชาชนและนักกิจกรรมสังคมชาวญี่ปุนจำนวนกว่า 2,000 คน ได้จัดกิจกรรมเดินขบวนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ยังค้างคา นับตั้งแต่การเยียวยาความเสียหายของประชาชนที่ถูกอพยพออกจากรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้า, การปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดในจังหวัดฟูกูชิมะ รวมทั้งขอให้มีมาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือเด็กๆ ที่กำลังได้รับรังสีเกินมาตรฐานอยู่ในขณะนี้

เซอิจิ นากาเตะ ชาวเมืองฟูกูชิมะ ผู้อำนวยการเครือข่ายฟูกูชิมะเพื่อการปกป้องเด็กจากกัมมันตภาพรังสี เล่าว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเขตอพยพประชาชนในรัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงแล้วพื้นที่ที่เป็นอันตรายมีมากกว่านั้นมาก โดยเฉพาะในระยะรัศมี 20 – 30 กิโลเมตร รัฐบาลยังคงปล่อยให้ประชาชนอาศัยอยู่ได้ตามปกติ สิ่งที่น่าวิตกคือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กๆ ซึ่งอ่อนไหวต่อกัมมันตภาพรังสีมากกว่าผู้ใหญ่ โรงเรียนต่างๆ ยังคงเปิดเรียนตามปกติ แต่มีการห้ามเด็กๆ ไม่ให้ลงสระว่ายน้ำในโรงเรียน รวมทั้งงดเว้นกิจกรรมกีฬากลางแจ้งของนักเรียน เนื่องจากกัมมันตภาพรังสียังคงปนเปื้อนอยู่ทั่วไปตามพื้นดินและอากาศ

ในช่วงเดือนเมษายน นากาเตะได้ทำการตรวจวัดกัมมันตภาพรังสีที่โรงเรียน 7 แห่งในจังหวัดฟูกูชิมะ(จากทั้งหมด 1,600 โรง) พบว่ามีระดับรังสีระหว่าง 10-100 กว่าไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง ทำให้เขาตกใจมาก เพราะตามกฎหมายระบุว่า บริเวณที่มีรังสี เกิน 0.6 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง(เช่น ห้องปฏิบัติการทางรังสีในโรงพยาบาล) จะต้องติดป้ายเตือนเกี่ยวกับอันตรายของรังสี แต่ที่โรงเรียนเหล่านี้มีรังสีสูงกว่าปกติเป็นร้อยเท่า

ในส่วนของพื้นที่รัศมี 20 กิโลเมตรที่ถูกประกาศเป็นเขตบังคับอพยพ มีประชาชน 116,000 คนที่ต้องอพยพออกไปโดยไม่ทราบว่าจะได้ย้ายกลับมาเมื่อใด นอกจากนี้ ยังมีประชาชนในพื้นที่ปนเปื้อนในรัศมี 20-30 กิโลเมตรอีกราว 50,000-80,000 คนที่ตัดสินใจอพยพออกจากพื้นที่ด้วยตัวเอง และเนื่องจากพื้นที่เหล่านี้รัฐบาลไม่ได้สั่งให้อพยพ ทำให้ผู้ที่อพยพด้วยตัวเองเหล่านี้ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่อย่าง ใด การอพยพได้กลายเป็นประเด็นที่เกิดความขัดแย้งในชุมชนอย่างมาก เพราะสิ่งที่จะตามมาก็คือการล้มละลายของเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งทางการท้องถิ่นพยายามเสนอให้ประชาชนมาช่วยกันกำจัดการปนเปื้อนของรังสี แทนที่จะอพยพหนีไป แต่วิธีการทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนรังสีก็เป็นไปได้ยากมาก ตัวอย่างเช่น รังสีที่ปนเปื้อนอยู่ตามพื้นดิน จะต้องใช้วิธีการขูดลอกหน้าดินออกไป และดินที่ถูกลอกออกไปนั้นจะถือเป็นกากนิวเคลียร์ที่ต้องมีการบำบัดจัดเก็บ ตามวิธีการที่ถูกต้อง วิธีการดังกล่าวนี้เพียงถูกนำมาใช้กับพื้นที่บางแห่งที่มีความสำคัญเท่านั้น เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำการขูดลอกหน้าดินของพื้นที่ปนเปื้อนทั้งหมดซึ่ง มีอาณาบริเวณนับร้อยตารางกิโลเมตรได้ สำหรับอาคารบ้านเรือนที่ปนเปื้อนรังสี สามารถฉีดน้ำล้างสารกัมมันตรังสีออกจากอาคารได้ แต่สารกัมมันตรังสีก็จะถูกน้ำชะล้างไปอยู่ตามพื้นดินหรือแหล่งน้ำอยู่ดี หรือกล่าวได้ว่าขณะนี้ยังไม่มีวิธีการใดๆ ที่จะกำจัดการปนเปื้อนรังสีที่เมืองฟูกูชิมะให้หมดไปได้

สิ่งที่ชาวบ้านเป็นห่วงกันมากก็คือสุขภาพของเด็กๆ ที่จะต้องอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีรังสีสูง ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถบำบัดให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยตามที่กฎหมายกำหนด คือ 1 มิลลิซีเวิร์ต/ปี แต่สิ่งที่รัฐบาลทำก็คือ การเพิ่มเกณฑ์การได้รับรังสีสูงสุดของประชาชนขึ้นเป็น 20 มิลลิซีเวิร์ต/ปี ซึ่งเป็นระดับเดียวกับผู้ที่ทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นั่นหมายความว่าชาวเมืองฟูกูชิมะจะตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วย จากรังสีในอนาคต โดยเฉพาะเด็กๆ และวัยรุ่นซึ่งกำลังเจริญเติบโตจะมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ของเดือนพฤษภาคม มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นกับเด็กๆ ในฟูกูชิมะคือ เด็กหลายรายมีอาการเลือดกำเดาออกอย่างไม่ทราบสาเหตุ โดยอาการดังกล่าวเกิดขึ้นกับเด็กหลายๆ คนในช่วงเวลาเดียวกัน แต่หลังจากนั้นอาการเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีบางคนวิเคราะห์ว่า อาการดังกล่าวเหมือนปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการที่สารกัมมันตรังสีเข้าไปใน กระดูกสันหลัง แต่อย่างไรก็ตาม คำตอบที่แท้จริงยังต้องอาศัยงานศึกษาวิจัยที่จะพิสูจน์ให้แน่ชัด

เซอิจิ ตั้งข้อสังเกตว่า ในกรณีอุบัติเหตุเชอร์โนบิลนั้น รัฐบาลเบลารุสได้กำหนดให้พื้นที่ที่ปนเปื้อนรังสีตั้งแต่ 5 มิลลิซีเวิร์ต/ปีขึ้นไปเป็นเขตบังคับอพยพ แต่ในกรณีฟูกูชิมะกลับพบว่าโรงเรียนจำนวน 3 ใน 4 จาก 1,600 โรงในฟูกูชิมะ อยู่ในพื้นที่ปนเปื้อนรังสีสูงกว่าระดับ 5 มิลลิซีเวิร์ต/ปี และโรงเรียนจำนวน 1 ใน 5 ของทั้งหมด มีระดับรังสี 20 มิลลิซีเวิร์ต/ปีเป็นอย่างน้อย ปัจจุบันพื้นที่ปนเปื้อนในระดับที่เป็นอันตรายยังมีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 1.5 ล้านคน

เซอิจิ นากาเตะ เป็นชาวเมืองฟูกูชิมะโดยกำเนิด เขามีบทบาทอย่างมากในฐานะแกนนำเครือข่ายประชาชนฟูกูชิมะที่พยายามต่อสู้ เพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ ในฟูกูชิมะ บนเวทีสัมนามากมายที่ถูกเชิญไปพูด เขามักกล่าวอย่างขมขื่นว่า

“เมื่อ 23 ปีที่แล้ว ผมได้เข้าร่วมการต่อต้านพลังงานนิวเคลียร์อยู่ 3 ปี แต่ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ผมเอาแต่ทำมาหากิน จนกระทั่งปลายปีที่แล้ว ผมเพิ่งจะกลับมาร่วมคัดค้านนิวเคลียร์อีกครั้ง แล้วเดือนมีนาคมก็เกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าระเบิดขึ้น มันทำให้ผมเสียใจมาก เพราะเรารู้อยู่ตลอดเวลาว่ามันอันตราย แต่เราก็ไม่ได้พยายามที่จะหยุดยั้งมันตั้งแต่แรก จนปล่อยให้อันตรายมันเกิดขึ้นมาจริงๆ พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่เมื่อเกิดอันตรายขึ้น ผู้ที่ได้รับอันตรายกลับเป็นเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของโลก ตอนนี้ผมทำใจแล้วว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า การเจ็บป่วยจากรังสีอาจเกิดขึ้นกับตัวผมเอง แต่ผมก็จะคัดค้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ต่อไปอย่างถึงที่สุด แม้จะต้องแลกด้วยชีวิต”

ในขณะนี้ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากกัมมันตภาพรังสีอาจยังไม่เกิดขึ้นให้เห็น อย่างเด่นชัด แต่ในอนาคตคาดว่าจะปรากฏออกมามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกรณีเชอร์โนบิล

สิ่งที่เซอิจิและกลุ่มผู้ปกครองนักเรียนในฟูกูชิมะกำลังเรียกร้องต่อรัฐบาล ก็คือ ขอให้มีมาตรการอพยพเด็กทั้งหมดและหญิงตั้งครรภ์ในรัศมี 20-30 กิโลเมตรออกจากพื้นที่ทันที แต่รัฐบาลก็ยังไม่ตอบสนอง มีผู้ปกครองเด็กบางส่วนที่ตัดสินใจพาเด็กอพยพออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย ซึ่งผู้ที่ตัดสินใจอพยพด้วยตัวเองนี้ ไม่อยู่ในข่ายที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือ

ประชาชนที่อยู่นอกรัศมี 20 กม. จำนวนหลักหมื่นคนได้ตัดสินใจอพยพออกจากพื้นที่ไปเอง คนเหล่านี้กำลังอยู่ในสภาพตกงานโดยที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือใดๆ เลย ส่วนประชาชนในรัศมี 20 กิโลเมตรที่ถูกสั่งให้อพยพ บริษัทเท็ปโกเพียงจ่ายค่าชดเชยให้ครอบครัวละ 1 ล้านเยนเท่านั้น (ประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งน้อยมากสำหรับค่าครองชีพในญี่ปุ่น) คนเหล่านี้จำนวนมากยังอยู่ในศูนย์อพยพและไม่มีรายได้ ทั้งยังมองไม่เห็นว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะกลับบ้านได้เมื่อไหร่ ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดการณ์ว่า พื้นที่ปนเปื้อนรัศมี 20 กิโลเมตรอาจต้องถูกปิดตายอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งถ้าเป็นจริง ประชาชนที่ถูกอพยพเหล่านี้จะทำอย่างไร ความเสียหายที่กินเวลายาวนานต่อไปอีก ใครจะรับผิดชอบ คำถามเหล่านี้ยังไม่มีคำตอบใดๆ จากผู้เกี่ยวข้อง

พื้นที่ปนเปื้อนรังสีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ไม่เพียงแต่ในพื้นที่จังหวัดฟูกูชิมะ ยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งที่มีการปนเปื้อนรังสีในระดับที่ไม่ปลอดภัย เช่น ที่เมืองชิบะ ห่างจากฟูกูชิมะ 170 กม. และห่างจากกรุงโตเกียว 30 กิโลเมตร ยูกะ คิกูชิ ชาวเมืองชิบะ บอกว่า ขณะนี้ที่เมืองชิบะยังมีการปนเปื้อนรังสีสูงกว่าโตเกียวถึง 10 เท่า เนื่องจากในระหว่างที่เกิดการรั่วไหลของรังสีอย่างรุนแรง ได้เกิดฝนตกที่เมืองชิบะ ทำให้สารกัมมันตรังสีตกลงสู่พื้นดิน ยูกะกล่าวว่า ที่ฟูกูชิมะตอนนี้รัฐบาลกลางกำลังจะประกาศให้ประชาชนในรัศมี 20-30 กิโลเมตรสามารถกลับไปอยู่อาศัยได้ แต่รัฐบาลท้องถิ่นไม่ยอม เนื่องจากยังมีปัญหาเกี่ยวกับของเสียปนเปื้อนรังสีที่ยังไม่ได้บำบัดจำนวน มาก รวมทั้งการปนเปื้อนในน้ำ และระบบสาธารณูปโภคที่ยังไม่ได้ซ่อมแซม

สิ่งที่ชาวญี่ปุ่นกังวลกันมากก็คือกัมมันตภาพรังสีที่ยังมีการแพร่กระจายออก มาจากโรงไฟฟ้าอยู่ ซึ่งขณะนี้มีพายุไต้ฝุ่นเกิดขึ้นเป็นระยะๆ หากเกิดพายุไต้ฝุ่นพัดผ่านฟูกูชิมะ กัมมันตภาพรังสีจะแพร่กระจายออกไปได้ไกลถึง 300 กม.

ยิ่งเวลาผ่านไปนานเข้า การปนเปื้อนรังสีในผลผลิตการเกษตรต่างๆ ก็ขยายตัวออกไปมากขึ้น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของปัญหาการปนเปื้อนรังสีใน ห่วงโซ่อาหาร

ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่เกิดอุบัติเหตุ มีการตรวจพบการปนเปื้อนรังสีในผัก ข้าว และน้ำนมในเขตจังหวัดฟูกูชิมะและจังหวัดติดกัน รัฐบาลมีคำสั่งห้ามปลูกข้าวในพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร และผลผลิตจำนวนมากถูกทำลายทิ้ง ต่อมาเดือนเมษายน ก็มีการตรวจพบการปนเปื้อนรังสีในเห็ดหอมและผลผลิตจากการประมงทะเล จนสหพันธ์ชาวประมงต้องออกประกาศให้ชาวประมงทุกรายห้ามออกจับปลา

ต่อมาเดือนพฤษภาคม ที่จังหวัดคานากาวะ, จังหวัดไซตามะ และจังหวัดชิบะ ซึ่งอยู่ห่างจากฟูกูชิมะประมาณ 300 กิโลเมตร ก็ตรวจพบการปนเปื้อนสารซีเซียมในใบชา และเดือนมิถุนายนก็ตรวจพบใบชาปนเปื้อนรังสีที่แหล่งผลิตใบชาใหญ่ที่สุดของ ญี่ปุ่นคือจังหวัดชิสุโอกะ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะมากกว่า 400 กิโลเมตร และต่อมาในเดือนกรกฎาคม การปนเปื้อนรังสีได้ขยายไปถึงเนื้อวัวญี่ปุ่นที่วางขายในท้องตลาด

กรณีการปนเปื้อนรังสีในเนื้อวัวแสดงให้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของปัญหาการปน เปื้อนรังสีเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เนื้อวัวที่เป็นที่นิยมในญี่ปุ่นคือวัวพันธ์พื้นเมืองที่ต้องเลี้ยงด้วยฟาง ข้าวตามกรรมวิธีดั้งเดิมของญี่ปุ่น ทำให้เกิดธุรกิจซื้อขายฟางข้าวเพื่อเป็นอาหารวัวอยู่ทั่วไป เมื่อนาข้าวมีการปนเปื้อนรังสี การควบคุมการซื้อขายฟางข้าวก็เป็นเรื่องยากลำบาก

ฟางข้าวที่ปนเปื้อนด้วยสารซีเซียมเหล่านี้นอกจากจะมาจากฟุกุชิมะแล้ว ยังมาจากจังหวัดมิยากิซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้า 150 กิโลเมตรและจังหวัดอิวาเตะซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้า 170 กิโลเมตรด้วย ฟางข้าวปนเปื้อนรังสีได้ถูกส่งจำหน่ายไปยังที่ต่างๆ จนเกิดการปนเปื้อนรังสีในเนื้อวัวหลายแห่ง นอกจากนี้ มูลวัวที่มีรังสีปนเปื้อนบางส่วนก็ถูกนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอีกด้วย ทำให้เกิดการปนเปื้อนรังสีในผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้นไปอีก

การปนเปื้อนรังสีในผลผลิตการเกษตรและการประมงเป็นความเสียหายที่มหาศาล ซึ่ง ณ ขณะนี้ยังไม่มีการเอ่ยถึงมาตรการใดๆ ในการช่วยเหลือผู้เสียหายเหล่านี้

คาซูโอกิ โอโนะ ผู้สื่อข่าวด้านการเกษตรซึ่งติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด ให้ข้อมูลว่า เกษตรกรในฟูกูชิมะมีความ เครียดกดดันมาก ตามข่าวจะเห็นว่า มีเกษตรกรที่ฆ่าตัวตายเพราะได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุครั้งนี้ 2 ราย แต่ในความเป็นจริงแล้วชาวบ้านต่างรู้กันดีว่า เกษตรกรที่ฆ่าตัวตายยังมีอีกหลายราย เพียงแต่พวกเขาไม่ได้เขียนจดหมายบอกไว้เหมือน 2 รายที่เป็นข่าว

บทเรียนจากญี่ปุ่น

แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าและมีระเบียบวินัยสูงเป็นแถวหน้าของ โลก แต่การแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่ารัฐบาลและประเทศนั้นๆ จะมีศักยภาพมากมายเพียงใด ก็ไม่สามารถรับมือกับอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงได้

โอกะ อายาโกะ ชาวบ้านฟูกูชิมะที่ถูกอพยพออกจากพื้นที่รัศมี 20 กิโลเมตรกล่าวว่า เธอเพิ่งสร้างบ้านใหม่เสร็จเพียง 2-3 เดือนก่อนเกิดอุบัติเหตุ โดยในตอนที่มีคำสั่งอพยพ เธอคิดว่าอีก 2-3 วันก็คงได้กลับบ้าน จึงไม่ได้นำทรัพย์สินในบ้านออกมาด้วย ประชาชนที่ถูกอพยพไม่ได้รับทราบข้อมูลจากรัฐบาลเกี่ยวกับการรั่วไหลของรังสี เลย แต่ได้รับรู้จากการเสนอข่าวของสื่อมวลชนในหลายวันต่อมา หมายความว่าชาวบ้านได้รับรังสีไปแล้วอย่างน้อย 2-3 วันโดยไม่รู้ตัว

โอกะกล่าวว่า “คนชอบพูดว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง แต่ฉันคิดว่าการมีเทคโนโลยีแล้วไม่มีการบริหารจัดการที่ดีก็ไม่มีประโยชน์ ที่จริงแล้ว ชาวบ้านฟูกูชิมะทุกๆ บ้านจะมีคู่มือปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์กันทั้งนั้น แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจริงๆ คู่มือดังกล่าวไม่สามารถช่วยอะไรเราได้เลย แผนฉุกเฉินในคู่มือมีการพูดถึงแผนการอพยพประชาชน แต่ก็แค่รัศมี 7 กิโลเมตรเท่านั้น”

ความมีระเบียบวินัยสูงของชาวญี่ปุ่นท่ามกลางอุบัติภัยร้ายแรงครั้งนี้ กลายเป็นภาพข่าวที่น่าทึ่งประทับใจไปทั่วโลก แต่ขณะเดียวกัน สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฟูกูชิมะแล้ว ในบางครั้งก็เป็นความอิหลักอิเหลื่อว่าพวกเขาจะตัดสินใจอย่างไรดี

โอกะเล่าว่า ในการป้องกันสุขภาพของประชาชนจากกัมมันตภาพรังสี รัฐบาลกลางได้มีคำสั่งไปยังรัฐบาลท้องถิ่นให้จัดเตรียมไอโอดีนไว้ให้พร้อม แต่หลังจากนั้นรัฐบาลกลางก็ไม่มีคำสั่งอื่นใดอีกเลย ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นต้องเผชิญกับสถานการณ์ตรงหน้า ก็เลยตัดสินใจแจกจ่ายไอโอดีนให้แก่ประชาชน แต่ก็ไม่กล้าประกาศให้ประชาชนกินไอโอดีนเพราะรัฐบาลกลางยังไม่มีคำสั่ง โดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นหวังว่าประชาชนจะใช้วิจารณญาณของตัวเองในการกิน ไอโอดีนเพื่อป้องกันต่อมไทรอยด์

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ประชาชนให้ความเชื่อถือรัฐบาลเป็นอย่างสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ในวิกฤตการณ์ครั้งนี้กลับเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะในขณะที่ประชาชนให้ความเชื่อถือรัฐบาลมาก แต่สิ่งที่รัฐบาลบอกแก่ประชาชนนั้น น่าเชื่อถือเพียงใด

ฮิเดยูกิ บัน จากศูนย์ข้อมูลนิวเคลียร์ภาคประชาชน ในโตเกียว ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามปัญหานิวเคลียร์มานานเกือบ 40 ปี แสดงความเห็นว่า ข้อมูลที่รัฐบาลเปิดเผยต่อสาธารณะเป็นสิ่งที่เชื่อถือได้ แต่มักจะเป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ช้าเกินไป และรัฐบาลไม่ได้บอกข้อมูลทั้งหมดกับประชาชน เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่เหมือนกันในทุกประเทศที่มีพลังงานนิวเคลียร์ คือประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ได้เพียงบางส่วน เท่านั้น ทำให้ภาคประชาชนต้องมีฝ่ายที่ทำหน้าที่ติดตามข้อมูลด้วยตัวเองด้วย

“รัฐบาลบอกประชาชนเรื่องการปนเปื้อนรังสีในอาหาร ชนิดไหนปนเปื้อนรังสีเท่าไหร่ ข้อมูลจากรัฐบาลเหล่านี้เชื่อถือได้ แต่ก่อนที่รัฐบาลจะบอก ประชาชนก็กินอาหารปนเปื้อนเข้าไปแล้ว ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับระดับรังสีที่เกิดเกณฑ์ปลอดภัย รัฐบาลบอกแต่ตัวเลข แต่ไม่ได้บอกว่าประชาชนต้องปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อหลีกเลี่ยงอันตราย”

ในเรื่องการอพยพประชาชน พื้นที่ที่มีอันตรายนั้นเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ ทิศทางลมและอื่นๆ ดังนั้น พื้นที่นอกเขต 20 กิโลเมตรบางแห่งจึงมีอันตรายไม่น้อยกว่าในรัศมี 20 กิโลเมตร ปรากฏว่าการอพยพประชาชนมีปัญหามากมาย เช่น ประชาชนที่ไม่ได้รับผลกระทบก็ถูกอพยพด้วย หรือประชาชนที่อยู่ในเขตอันตรายน้อยกลับถูกอพยพไปไว้ในจุดที่มีอันตรายมาก เป็นต้น

สิ่งที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุรุนแรงกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพมากขนาดไหน การจัดการกับปัญหาก็เป็นสิ่งที่ยากมาก และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงจากผลกระทบที่กว้างขวาง รุนแรง และมีผลสืบเนื่องต่อไปอีกยาวนาน

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น กล่าวโดยสรุปแล้ว มูลค่าความเสียหายของอุบัติเหตุนิวเคลียร์ครั้งนี้ อยู่ในระดับที่บริษัทเท็ปโกไม่สามารถแบกรับได้ ซึ่งในทางกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดทางนิวเคลียร์ (nuclear liability) หลักสากลสำหรับทุกประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือ จะต้องมีการทำประกันภัยไว้ตั้งแต่เริ่มทำโครงการ อย่างไรก็ตาม วงเงินประกันจะมีเพดานจำกัดที่ระดับหนึ่งซึ่งไม่เพียงพอในกรณีเกิด อุบัติเหตุร้ายแรง ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น รัฐบาลก็ต้องเข้ามาช่วยแบกรับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในกรณีฟูกูชิมะก็เช่นเดียวกัน บริษัทเท็ปโกต้องตกอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลายจากอุบัติเหตุครั้งนี้ ทั้งยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดการเตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 เครื่องซึ่งต้องใช้งบประมาณหลายล้านล้านเยน ในตอนแรก รัฐบาลมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรปล่อยให้เท็ปโกล้มละลายไปเลย จากนั้นรัฐบาลจึงเข้าไปรับผิดชอบต่อ แต่อีกฝ่ายเห็นว่ารัฐบาลต้องเข้าไปอุ้มไม่ให้เท็ปโกล้มละลาย เพราะจะเกิดผลกระทบมากต่อระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ในที่สุดรัฐบาลเลือกแนวทางหลังคือเข้าไปอุ้มบริษัทเท็ปโก

สำหรับค่าชดเชยเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกอพยพ ค่าเสียหายด้านการเกษตร การประมง และอื่นๆ ยังไม่มีการประเมินมูลค่าออกมา และที่สำคัญคือ ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่จะปรากฏขึ้นในอนาคต ยังเป็นคำถามคำโตว่า ญี่ปุ่นจะจัดการกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น