Pages

14 กุมภาพันธ์ 2556

25 ปีอุบัติเหตุเชอร์โนบิล มีผู้เสียชีวิตจำนวนเท่าใด

ดาวน์โหลด
(จับตานิวเคลียร์ ฉบับที่ 10, ม.ค.-พ.ค. 2553)

ในวาระครบรอบ 24 ปีของอุบัติเหตุเชอร์โนบิลเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 สถาบันวิทยาศาสตร์ในนิวยอร์ค “The New York Academy of Sciences” ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับผลกระทบจากอุบัติเหตุเชอร์โนบิล ซึ่งระบุข้อมูลล่าสุดว่า 24 นับจากเกิดอุบัติเหตุเชอร์โนบิล มีประชาชนเกือบหนึ่งล้านคนทั่วโลกแล้วที่ได้เสียชีวิตจากกัมมันตภาพรังสีที่แพร่ออกมาจากอุบัติเหตุครั้งนี้เมื่อปี 2529

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า “Chernobyl: Consequences of the Catastrophe for People and the Environment” เขียนโดย อเล็กเซย์ ยาโบลคอฟ จากศูนย์นโยบายสิ่งแวดล้อมรัสเซียในมอสโคว์ ดร.วาสซิลี เนสเตอเรนโก และอเล็กเซย์ เนสเตอเรนโก จากสถาบันความปลอดภัยทางรังสีในเมืองมินสค์ ประเทศเบลารุส พวกเขาได้วิเคราะห์และสรุปข้อมูลจากบทความวิชาการมากกว่า 5,000 ชิ้นในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต

ซึ่งไม่เคยแปลเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษมาก่อน ซึ่งถือเป็นข้อมูลจากประจักษ์พยานที่ได้เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากอุบัติเหตุครั้งนี้โดยตรง

“ในปีที่ 24 ภายหลังเหตุการณ์นี้ เราพบว่า ผลพวงจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเลวร้ายกว่าที่นักวิจัยส่วนใหญ่เคยเชื่อ” เจเน็ตต์ เชอร์แมน นักฟิสิกซ์และพิษวิทยาผู้เป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้กล่าว

นับเฉพาะประชาชนที่เข้าไปเป็นแรงงานในการกู้สถานการณ์และจัดการพื้นที่ที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีซึ่งมีจำนวนถึง 830,000 คน จนถึงปี 2548 บุคคลเหล่านี้ได้ทยอยเสียชีวิตจากรังสีที่ได้รับไปแล้วประมาณ 112,000-125,000 คน ในขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และทบวกการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ประเมินไว้เมื่อปี 2548 ว่า น่าจะมีผู้เสียชีวิตแล้วประมาณ 9,000 คน และมีผู้เจ็บป่วยจากรังสีอีกประมาณ 200,000 คน แต่จากข้อมูลประกอบที่มีจำนวนมากมายกว่าอย่างมาก หนังสือเล่มนี้ได้ประเมินว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากสารกัมมันตรังสีเชอร์โนบิลทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2529 ถึงปี 2547 มีจำนวนถึง 985,000 คน และจะยังเพิ่มขึ้นต่อไปอีก

นอกจากประชาชนยุโรปกว่า 550 ล้านคนที่ได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนรังสีไปทั่วทวีปยุโรปแล้ว 9 วันหลังการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล สารกัมมันตรังสีก็ได้แพร่กระจายไปถึงอเมริกา และปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งในสหรัฐฯ พบว่า เพียงไม่กี่ปีหลังเหตุการณ์เชอร์โนบิล เด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ในเขตคอนเน็คติคัตได้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัว

หนังสือเล่มนี้ยังระบุด้วยว่า ผลผลิตอาหารจากพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนรังสีอย่างเข้มข้นในเขตอดีตสหภาพโซเวียต ยังคงถูกส่งออกไปขายในประเทศอื่นๆ และก่อผลกระทบต่อประชาชนในหลายประเทศ

“ไม่มีประชาชนของประเทศใดในโลกที่จะมั่นใจได้ว่าตัวเองได้รับการปกป้องจากการปนเปื้อนของรังสี เตาปฏิกรณ์เพียงเครื่องเดียวสามารถก่อมลพิษไปได้ถึงครึ่งโลก” ดร.วาสซิลี เนสเตอเรนโก กล่าว เขาเป็นหัวหน้าสถาบันฟิสิกซ์นิวเคลียร์ในยูเครนในช่วงเกิดเหตุเมื่อ 24 ปีก่อน และได้เสียชีวิตจากการเจ็บป่วยทางรังสีเมื่อเดือนสิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา แต่สถาบัน “BELRAD” ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งยังคงอยู่ที่ประเทศเบลารุส เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือเด็กๆ ชาวเบลารุสที่เจ็บป่วยทางรังสีต่อไป

(ข้อมูลจาก http://www.alternet.org, http://janettesherman.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น