แม้ว่าวิกฤตินิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นที่สร้างความตื่นตระหนกเรื่องผลกระทบที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีต่อคนทั่วโลก จะส่งผลให้ประเทศไทยหันมาทบทวนแผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และขยายระยะเวลาการตัดสินใจออกไปอีก 3 ปี แต่วันนี้ คำถามต่อพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ได้มีเพียงประเด็นเรื่องความปลอดภัยเพียงเท่านั้น สำหรับประเทศไทยเองควรใช้เวลาศึกษาถึงค่าใช้จ่ายต้นทุนที่มีราคาสูง และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้จำเป็นต้องคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งระบบ
ตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา เราอาจยังหาคำตอบไม่ได้ชัดเจนนักว่า ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีสู่สภาวะแวดล้อมภายนอกจากโรงไฟฟ้า ฟุคุชิมะ ไดอิจิจะมีมูลค่าความเสียหายมหาศาลเพียงใด เนื่องจากการแก้ไขปัญหาโดยบริษัทเทปโกและรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงไม่ยุติ มูลค่าความเสียหายต่างๆ จากอุบัติเหตุนิวเคลียร์เหล่านี้อาจเป็นเพียงความเป็นไปได้หนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลก
แต่ปัญหาที่จะตามมาแน่นอนเมื่อตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ การกำจัดกากนิวเคลียร์ขั้นสุดท้าย ที่จวบจนวันนี้ ยังไม่มีประเทศใดในโลกที่มีการดำเนินการจัดเก็บกากของเสียจากแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วและกากกัมมันตรังสีอื่นๆ ได้อย่างถาวร หน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยก็ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ และเกิดกระแสการคาดเดาต่างๆ นาๆ ว่า ทางออกหนึ่งที่น่าเป็นไปได้คือการวางแผนใช้เหมืองโปแตชทางแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสำหรับจัดเก็บกากนิวเคลียร์เหล่านี้
แนวทางการแก้ปัญหาเรื่องกากนิวเคลียร์ของประเทศที่มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปัจจุบัน ส่วนใหญ่มักนิยมใช้วิธีการจัดเก็บทางธรณีวิทยา (Geologic Disposal) โดยกากของเสียจะถูกเก็บในโพรงใต้ดินลึกหลายร้อยเมตรเพื่อป้องกันการรั่วไหลในอนาคต แต่วิธีการนี้ก็สร้างปัญหาในบางประเทศ อาทิ ประเทศเยอรมนีซึ่งมีปัญหาจากการกำจัดกากนิวเคลียร์ในเหมืองเกลือ ASSE II และเกิดการรั่วไหลของน้ำจืดเข้าไปในเหมือง และอาจส่งผลกระทบต่อการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีต่อสภาพแวดล้อมและชุมชนที่อาศัยโดยรอบได้
บทความนี้ขอเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปเยี่ยมชมเหมืองเกลือ ASSE II เมื่อปีที่แล้ว
เหมืองเกลือ ASSE II เป็นเหมืองที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2449 โดยมีขุดแร่เกลือที่ระดับ 750 เมตรใต้ผิวดิน ปัจจุบันเป็นเหมืองแร่ร้างที่รัฐบาลเยอรมันเลือกใช้เป็นสถานที่ทดลองเก็บกากนิวเคลียร์ถาวรในปี พ.ศ.2503 เนื่องจากเชื่อกันว่าเกลือหรือดินเหนียวมีคุณสมบัติในการป้องกันการแผ่กระจายของรังสีได้ แต่ในช่วงนั้น คนเยอรมันเองก็ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังถึงความเสี่ยงและอันตรายของการเก็บกากนิวเคลียร์
ในปี พ.ศ.2510 กากนิวเคลียร์จากแหล่งต่างๆ ในเยอรมันก็เริ่มถูกขนย้ายเข้าสู่เหมือง ASSE II จนถึงปี พ.ศ.2521 เหมืองแห่งนี้ก็กลายเป็นที่เก็บกากนิวเคลียร์รังสีระดับต่ำจำนวน 125,000 บาร์เรล และกากนิวเคลียร์รังสีระดับปานกลางจำนวน 1,300 บาร์เรล
10 ปีต่อมา ในปี พ.ศ.2531 ปัญหาก็เกิดขึ้นเนื่องจากน้ำใต้ดินที่ไหลซึมเข้าสู่ภายในเหมือง ซึ่งชั้นหินเกลือจะประกอบไปด้วยเกลือหลายชนิด และบางชนิดเมื่อถูกน้ำก็เกิดการละลาย ทำให้ชั้นหินเกลือเกิดรอยแตกและทรุดตัว ถังบรรจุกากนิวเคลียร์ถูกถมทับด้วยเศษเกลือที่พังทลายลงมา รวมทั้งสารละลายเกลือที่เกิดจากน้ำที่ซึมเข้าไป สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะนานวันเข้าถังบรรจุกากนิวเคลียร์ก็จะผุกร่อนมากขึ้น และสารกัมมันตรังสีก็จะแพร่ออกมาปนเปื้อนหินเกลือและน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ หากชั้นหินเกลือยุบตัวไปเรื่อยๆ เหมืองแห่งนี้อาจถล่ม และก๊าซ Radon ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสีก็จะแพร่กระจายสู่ชั้นบรรยากาศโดยตรง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ Helmholtz ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้ดูแลสถานที่เก็บกากนิวเคลียร์ ASSE II ไม่เปิดเผยเรื่องนี้ต่อประชาชนจนกระทั่งปี พ.ศ. 2551 สร้างความไม่พอใจเป็นอย่างมากแก่ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงซึ่งได้เคลื่อนไหวคัดค้่นการใช้เหมือง ASSE II เป็นที่เก็บกากนิวเคลียร์มาตั้งแต่ 40 ปีก่อน รัฐบาลจึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนหน่วยงานดูแลเหมือง ASSE II
การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก สิ่งที่จะต้องทำก็คือ อันดับแรก จะต้องป้องกันไม่ให้อุโมงค์ในเหมืองถล่มเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญเยอรมันใช้วิธีฉีดคอนกรีตเข้าไปในช่องว่างรอยแตกของหินเกลือ และสร้างระบบปั๊มน้ำเพื่อระบายน้ำที่ไหลซึมอยู่ตลอดเวลาออกจากเหมือง ทั้งยังต้องสร้างระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานไม่ให้ได้รับอันตรายจากก๊าซ Radon อันดับต่อมาที่จะต้องดำเนินการคือ การขนย้ายกากนิวเคลียร์หนึ่งแสนกว่าถัง ซึ่งขณะนี้ถูกกลบทับอยู่ใต้กองดินและเกลือภายในอุโมงค์เหมือง และบางส่วนชำรุดเสียหายและมีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล รวมทั้งเศษดินและหินเกลือที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีออกจากเหมืองแห่งนี้ การทำงานเหล่านี้เป็นเรื่องยาก มีขั้นตอนมากมายและต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพราะเป็นการทำงานกับสิ่งที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ทั้งในรูปของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ที่ระดับความลึกจากพื้นดิน 750 ฟุต
ไรน์ฮาร์ด เกินต์ (Reinhard Gerndt) แกนนำชุมชนกลุ่มผู้คัดค้านการเก็บกากนิวเคลียร์ ASSE II เล่าว่า ในช่วงต้นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการเรื่องนี้ ได้ออกรายงานทางวิชาการเสนอให้ปิดเหมืองถาวรและประกาศให้เหมือง ASSE II เป็นแหล่งกักเก็บกากนิวเคลียร์ถาวรแห่งแรก แต่ปัญหาเรื่องน้ำซึมเข้าในเหมืองเป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่าข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าวไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดกระแสการต่อต้าน
เรื่องนี้จึงกลายเป็นข่าวโด่งดังไปจนหลายคนหันมาให้ความสนใจกับประเด็นปัญหานี้และเกิดการเคลื่อนไหวกดดันและนำมาสู่การแก้ปัญหาโดยรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งได้จัดให้หน่วยงานใหม่เข้ามารับผิดชอบแทน แต่ว่าชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงต่างได้รับผลกระทบจากราคาที่ดินที่ตกต่ำลงและความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีสู่แหล่งน้ำ โดยเฉพาะหากมีการใช้น้ำละลายเกลือเพื่อนำกากนิวเคลียร์ออกมาจากเหมืองและขนย้ายไปที่อื่น กรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจเกิดการปนเปื้อนภายใน 2 ปีแต่การปนเปื้อนจะเกิดขึ้นแน่นอนในอีก 30 ปีข้างหน้า
ตอนนี้ การจัดการเรื่องการดูแลและแก้ปัญหาเบื้องต้นของเหมือง ASSE II อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานชื่อ Landesamt für Bergbau, Energie und Geologie (LBEG) หรือ State Office for Mining, Energy and Geology ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลเยอรมันให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำซึมเข้าเหมืองเกลือต่อจากหน่วยงานแรก
วิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่าที่สามารถทำได้ขณะนี้คือการนำคอนกรีตมาอุดในรอยแยกที่เกิดจากการแห้งของเกลือ เพื่อไม่ให้ชั้นเกลือด้านบนเกิดการยุบตัวลงไปทับกับกากนิวเคลียร์ ซึ่งถูกฝังอยู่ลึกลงไปจากความลึกของเหมืองประมาณ 200 เมตร แต่ไม่มีใครแน่ใจว่าทางออกเฉพาะหน้านี้จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้นานแค่ไหน และทางหน่วยงานฯ กำลังดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการขนย้ายกากนิวเคลียร์ออกจากเหมือง ASSE II ก่อนที่จะเกิดปัญหาเหมืองเกลือยุบตัว
แอนเนตต์ พาร์ลิธซ์ (Annette Parlitz) เจ้าหน้าที่จากกรมป้องกันกัมมันตภาพรังสี (ภายใต้กระทรวงสิ่งแวดล้อม) ซึ่งเริ่มดำเนินการทำงานแก้ปัญหาของเหมือง ASSE II ตั้งแต่ปี 2552 กล่าวว่า แม้จะมีมติออกมาว่าจะต้องมีการย้ายกากนิวเคลียร์ไปไว้ที่อื่น ทางหน่วยงานต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ว่าจะจัดการกับกากนิวเคลียร์ที่มีอยู่อย่างปลอดภัยได้อย่างไร
โจทย์ที่สำคัญกว่านั้นคือ หากย้ายกากนิวเคลียร์จากเหมืองนี้จะสามารถนำไปเก็บไว้ที่ไหน เพราะตอนนี้บนโลกเรายังไม่มีแหล่งกักเก็บกากนิวเคลียร์ถาวรได้อย่างปลอดภัยเลยแม้แต่แห่งเดียว จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการแก้ปัญหาการรั่วซึมของน้ำเข้าไปในเหมืองและการขนย้ายกากนิวเคลียร์ออกจากเหมือง A-SSE II จะใช้เวลากี่ปี
ขณะนี้ หน่วยงานฯ มีค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าราว 80 ล้านยูโรต่อปี และหากจะต้องแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างปลอดภัยที่สุด ทั้งในส่วนงบประมาณสำหรับการวิจัย, การเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์, แรงงาน, การขนส่งกากของเสีย, ฯลฯ คาดว่าน่าจะใช้งบประมาณมหาศาล และภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดนี้ตกเป็นภาระของรัฐบาลเยอรมันและประชาชนเยอรมันทุกคน
บทเรียนสำคัญของปัญหาการกำจัดกากนิวเคลียร์จากประเทศเยอรมันไม่ได้เป็นปัญหาเชิงเทคนิคเพียงอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสี แต่เป็นปัญหาเรื่องการจัดการในองค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย
แอนเนตต์ พาร์ลิธซ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ปัญหาทั้งหมดนี้ เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่รอบด้านถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เหมืองแห่งนี้เก็บถังกากนิวเคลียร์ไว้ใต้ดินมามากกว่า 30 ปี และเกลือเกิดปฏิกิริยาแข็งตัวมานานแล้ว เมื่อเกลือเหล่านี้แข็งตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้การเจาะเข้าไปถึงตัวถังที่ถูกเกลือฝังกลบไว้ทำได้ยากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ในตอนนั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจที่เพียงพอ จึงทำให้ไม่ได้จัดเก็บถังบรรจุกากนิวเคลียร์อย่างรอบคอบและระมัดระวัง มีการขับรถทับถัง โยนถังให้เรียงซ้อนกัน ส่งผลให้ถังยุบและถังบางส่วนอาจมีการแตกหรือรั่ว อีกทั้งไม่มีการวางแผนล่วงหน้าสำหรับการขนย้ายกากของเสียเมื่อประสบความเสี่ยงในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น หากจะขนย้ายถังบรรจุกากนิวเคลียร์ จะต้องทำการขนย้ายกากนิวเคลียร์ทั้งหมดรวมถึงเกลือที่ได้รับการปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีด้วย
ปัจจุบัน ประเทศเยอรมันใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากว่า 40 ปีแล้ว แต่เยอรมันก็ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับสถานที่กักเก็บกากนิวเคลียร์ถาวร
ปัญหาและภาระมากมายที่เกิดขึ้นที่เหมือง ASSE II
เป็นเพียงกากนิวเคลียร์ระดับรังสีปานกลางและรังสีระดับต่ำเท่านั้น ยังไม่ได้รวมถึงแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วซึ่งจัดเป็นกากนิวเคลียร์ระดับรังสีสูงซึ่งมีอันตรายและอายุยาวนานกว่านับร้อยเท่า แม้ว่าเยอรมันจะได้ตัดสินใจแล้วที่จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ให้หมดภายใน 11 ปีนับจากนี้ (พ.ศ. 2565) แต่กากนิวเคลียร์ที่เหลือทิ้งไว้กลับยังคงสภาพความอันตรายอยู่ต่อไปดั่งงเป็นอมตะ กลุ่มนักเคลื่อนไหวชาวเยอรมันบางกลุ่มเสนอให้กักเก็บกากนิวเคลียร์ไว้บนผิวดินเพื่อความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ แต่วิธีการนี้ก็ตั้งอยู่บนความเสี่ยงเช่นกัน และดูเหมือนว่าปัญหานี้ยังเป็นโจทย์ให้ชาวเยอรมันต้องช่วยกันขบคิดแก้ปัญหาร่วมกันอีกนาน
สำหรับประเทศไทย หากจะตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เราคงต้องถามตัวเองว่าเรามีทางออกที่ชัดเจนให้กับเรื่องการเก็บกากนิวเคลียร์ที่รุ่นลูกรุ่นหลานของเราจะต้องรับผิดชอบดูแลแทนในอนาคตเป็นเวลาอย่างน้อยหลายร้อยหรือแม้กระทั่งหลายหมื่นปีหรือยัง
และคนไทยพร้อมหรือยังที่จะแบกรับต้นทุนที่มองไม่เห็นจากความเสี่ยงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และการกำจัดกากของเสียเหล่านี้
หากคำตอบยังคงเป็นการโบ้ยให้กับประเทศที่ค้ายูเรเนียมให้ไทย หรือยังคงตอบแบบอ้อมๆ แอ้มๆ การขยายระยะเวลาตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียง 3 ปีอาจไม่เพียงพอกับอนาคตที่คนรุ่นถัดไปต้องแบกรับ!
โดย : วรวรรณ วรรณลักษณ์, วารสารเส้นทางสีเขียว ฉบับที่ 30, กันยายน-ธันวาคม 2554
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น